กรุงไทยมอบเงินสนับสนุนมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ฯ จัดกิจกรรมปลูกป่ากันชนช้าง
ธนาคารกรุงไทย ติดปีกไทยสู่ความยั่งยืน สนับสนุนการดำเนินงานกองทุนคชานุรักษ์ มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมจัดกิจกรรมจิตอาสา นำผู้บริหารและพนักงานร่วมกับชุมชน ภาคีเครือข่าย ปรับสภาพภูมิทัศน์และปลูกพืชแนวกันชนช้าง เพื่อพัฒนาผืนป่าและชุมชน หมู่บ้านคชานุรักษ์ บ้านหนองกระทิงและบ้านคลองมะหาด จ.ฉะเชิงเทรา
นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ธนาคารได้มอบเงินสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 1,260,000 บาท โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ เป็นผู้รับมอบ พร้อมด้วย นายสุทัศน์ วีสกุล กรรมการบริหาร นายรอยบุญ รัศมีเทศ กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ และ พลอากาศตรี วีระพันธ์ ภูวจินดา กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน ที่ทำเนียบองคมนตรี
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้จัดกิจกรรมจิตอาสา โดยได้รับเกียรติจาก นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายรอยล จิตรดอน กรรมการมูลนิธิฯ พร้อมด้วยผู้บริหาร พนักงานจิตอาสาของธนาคารที่รวมพลังกับชาวบ้านในชุมชน ภาคีเครือข่ายและนักเรียนกว่า 300 คน ร่วมกันกำจัดวัชพืช ปรับปรุงพื้นที่แนวปะทะระหว่างช้างและชุมชน โดยร่วมกันปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารของช้าง อาทิ สะเดา ขี้เหล็ก ชะอม เพื่อเป็นแนวกันชนช้างให้กับแปลงเกษตรชุมชน หมู่บ้านคชานุรักษ์บ้านหนองกระทิง และหมู่บ้านคชานุรักษ์บ้านคลองมะหาด จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่ารอยต่อภาคตะวันออกที่ประสบปัญหาการรุกรานจากช้างป่า โดยใช้กุศโลบายการปลูกพืชที่ช้างไม่ชอบเป็นแนวกันชนบริเวณที่อยู่อาศัยของชุมชนและปลูกพืชแหล่งอาหารช้างบริเวณป่าธรรมชาติ เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ช้างป่าหากิน และให้เกษตรกรในชุมชน สามารถเก็บผลผลิตไปจำหน่ายเป็นรายได้ สร้างสมดุลการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและช้างป่า
ธนาคารกรุงไทยมุ่งมั่นดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และปฏิบัติตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ โดยให้ความสำคัญกับการทำประโยชน์เพื่อชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเอง ตามวิสัยทัศน์ กรุงไทย ติดปีกไทย สู่ความยั่งยืน อันเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า พื้นที่ชุมชน 5 จังหวัดภาคตะวันออก มีช้างป่าอาศัยอยู่ถึง 460 เชือก โดยอยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรามากกว่า 300 เชือก ทำให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองกระทิง และชุมชนบ้านคลองมะหาด ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์และเข้ามาทำความเสียหายในพื้นที่ทำกิน ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการคัดเลือกให้เป็น “หมู่บ้านคชานุรักษ์” เพื่อนำร่องสร้างความเข้าใจพฤติกรรมช้างป่าให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยกำหนดเขตดำเนินการเป็น 3 เขต ได้แก่ เขตของช้างหรือเขตอนุรักษ์ เขตแนวกันชน และเขตชุมชน รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การประกอบอาชีพ โดยสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกพืชการเกษตรที่ช้างไม่ชอบ นอกจากเป็นการสร้างป่ากันชนตามธรรมชาติแล้วยังสามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับชุมชน
นายรอยล จิตรดอน กรรมการมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับชุมชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ โดยได้ดำเนินการวิจัยพฤติกรรมของช้างป่าและพบว่าช้างป่าจำนวนมากออกจากป่าธรรมชาติเนื่องจากป่าบางพื้นที่มีความหน่าแน่นมากจนเกินไป และได้ทดลอง เก็บผลสำรวจชนิดของพืชและสัตว์ที่ช้างไม่ชอบเพื่อสร้างเขตพื้นที่กันชน อาทิ การปลูกพืชการเกษตรบางชนิด หรือการเลี้ยงผึ้งเพื่อกันช้าง และนำน้ำผึ้งมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยในปัจจุบันมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 51 หมู่บ้านใน 5 จังหวัด
กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาปลูกพืชแนวกันชนเพื่อเกษตรชุมชน เปิดโอกาสให้จิตอาสาของธนาคารและอาสาสมัครนักเรียน ได้เรียนรู้ถึงความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพของชุมชน และปลูกฝังจิตสำนึกให้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน