GGC ร่วมกับ GIZ และพันธมิตรบันทึกข้อตกลงยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน
GGC สร้างโอกาสทางการตลาดน้ำมันปาล์มยั่งยืนของไทย เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดโลก ยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในประเทศไทยตลอดห่วงโซ่อุปทาน
GGC และ GIZ ร่วมดำเนินโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับมาตรฐานปาล์มน้ำมันในประเทศไทยและสร้างโอกาสทางธุรกิจ ด้วยการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน
โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะท้อนถึงบทบาทและการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนพลังแห่งการสร้างสรรค์ เพื่อคุณค่าที่ยั่งยืนของ GGC
บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทย ดำเนินโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable and Climate – Friendly Palm Oil Production and Procurement in Thailand หรือ SCPOPP) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทยให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) มุ่งหวังยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนในประเทศไทย
สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน GGC และ GIZ พันธมิตรโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ได้ร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ภายใต้โครงการดังกล่าว โดยร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ด้วยการนำหลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรรายย่อยผู้ผลิตปาล์มน้ำมันของไทย (Thailand Palm Smallholder Academy หรือ TOPSA) มาสร้างความเชื่อมโยงให้กับเครือข่ายเกษตรกรกับโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันและการเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มเกษตรกรเข้าสู่การรับรองมาตรฐาน Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ภายในปี พ.ศ. 2567
นายไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “GGC ในฐานะภาคเอกชนที่เป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมและผู้บุกเบิกด้านการผลิตผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมี ในประเทศไทย นอกจากการสร้างโอกาสให้แก่การดำเนินธุรกิจของ GGC การสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้แก่ภาคเกษตรกรรมของประเทศให้เกิดความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเป็นสิ่งที่ GGC ให้ความสำคัญ เรามุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทยและให้ได้การยอมรับในระดับสากล เพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศไทยตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือSDGs) และการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ GGC ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
ความร่วมมือในการดำเนินโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระหว่าง GGC และ GIZ เกิดขึ้นด้วยเป้าหมายเดียวกันคือต้องการยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย สำหรับการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการร่วมกันระหว่าง 4 ภาคี คือ GGC GIZ 7 พันธมิตรโรงสกัดปาล์มน้ำมัน และกลุ่มเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน 1,000 ราย ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง ชุมพร และพังงา เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการผลิตปาล์มและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศไทย ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การฝึกอบรมวิทยากร การฝึกอบรมเกษตรกร และการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรรายย่อยให้สามารถเข้าถึงมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนที่เป็นสากล มาตรฐาน RSPO ภายในปี พ.ศ. 2567”
นางสาวกนกวรรณ ศาศวัตเดชะ ผู้จัดการโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (SCPOPP) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทย กล่าวว่า “ความท้าทายของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มประเทศไทยไม่ใช่ปัญหาการทำลายผืนป่า แต่เป็นเรื่องข้อจำกัดของเกษตรกรสวนปาล์มน้ำมันรายย่อยที่มากกว่า 70% ยังคงขาดความตระหนักรู้ โอกาสในการเข้าถึงความรู้ ตลอดจนมีเงินทุนที่จำกัด เพื่อยกระดับการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนได้ GIZ ประเทศไทยร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการ SCPOPP ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โครงการได้พัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อปลดล็อกความท้าทายของเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ เช่น หลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ควบคู่กับการจัดทำแปลงสาธิต ตลอดจนการพัฒนาแอปพลิเคชันการจัดการฐานข้อมูลการผลิตอย่างยั่งยืน
ขณะนี้ วิทยากรเกษตรกรกว่า 200 ราย ซึ่งมาจากเจ้าหน้าส่งเสริมการเกษตร ผู้นำเกษตรกร และผู้แทนจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ได้รับการฝึกอบรมจากโครงการฯและได้ส่งต่อความรู้ไปยังเกษตรกรรายย่อยกว่า 3,400 ราย ในปี พ.ศ. 2564 นอกจากนี้เกษตรกรรายย่อย 400 ราย ได้รับการรับรองการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน RSPO และเชื่อมต่อกับตลาดโลกได้สำเร็จ เห็นได้ชัดว่า ความสำเร็จในการยกระดับการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในประเทศไทยเป็นเรื่องที่สามารถทำได้แน่นอน หากผู้เล่นในห่วงโซ่ร่วมมือกัน โดยเริ่มต้นจากพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรรายย่อย”