สมอ. ลงใต้ผนึกกำลัง 9 ตลาดดังเมืองคอน ขายสินค้ามี มอก.
สมอ. สัญจรลงใต้ ผนึกกำลัง 9 ตลาดดังเมืองนครศรีธรรมราช ขายสินค้ามี มอก. ระดมสื่อท้องถิ่นและร้านจำหน่าย 14 จังหวัดภาคใต้ ร่วมเป็นเครือข่ายเผยแพร่มาตรฐาน เฝ้าระวัง และแจ้งเบาะแสสินค้าไม่มี มอก. ในพื้นที่ พร้อมยกระดับ SMEs ให้ได้มาตรฐาน มอก.เอส
นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การส่งเสริมผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยให้จำหน่ายสินค้ามาตรฐาน มอก. เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค” ระหว่างสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กับผู้ประกอบการตลาดในจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า โดยมีแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นแนวทางในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย โดยให้ทุกหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภค บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคบรรลุผลตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ การควบคุมและกำกับติดตามการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ที่มี สมอ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน โดยเฉพาะสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ทั้ง 136 รายการ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น หมวกกันน็อค ท่อพีวีซี เหล็ก และวัสดุก่อสร้างต่างๆ ต้องมีความปลอดภัยต่อประชาชน
“การลงนาม MoU กับผู้ประกอบการตลาดในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ ตลาดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ตลาด อบต. กำแพงเซา ตลาดเกียเจริญ ตลาดท่าชี ตลาดปิ่มเพชร ตลาดหัวอิฐ ตลาดอาจารย์เชื้อ ตลาดบัวตอง และตลาดนาวงษ์ ในวันนี้ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันส่งเสริมความรู้ด้านการมาตรฐานให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยให้จำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐานถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งเฝ้าระวังมิให้มีการจำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และสามารถเลือกสินค้าที่ได้มาตรฐานมาจำหน่ายได้อย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป”
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การ MoU กับผู้ประกอบการตลาดเป็นกิจกรรมภายใต้ “สมอ.สัญจร” ที่ สมอ. ลงพื้นที่ไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคเหนือและภาคอีสานซึ่งได้จัดมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ที่ สมอ. ลงพื้นที่ภาคใต้ โดยบูรณาการภารกิจของ สมอ. ทั้งในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการทุกระดับ ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความรู้ด้านการมาตรฐานที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อการดำเนินธุรกิจให้มีความยั่งยืน มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพให้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชน และถือเป็นโอกาสอันดีในการประสานความร่วมมือในภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกับหน่วยงานในพื้นที่ภาคใต้ โดยเชิญสื่อมวลชนท้องถิ่นภายใต้ภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยทั้ง 14 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เข้าร่วมสัมมนาเพื่อให้ความรู้ด้านการมาตรฐานให้สามารถถ่ายทอดความรู้ผ่านทางรายการวิทยุแก่ประชาชนผู้บริโภคในท้องถิ่นได้อย่างถูกต้องและทั่วถึง
นอกจากนี้ ยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ สมอ. ลงตรวจควบคุมตามกฎหมายพร้อมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงสถานที่จำหน่าย ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนกว่า 60 ราย เพื่อให้ความรู้ทั้งด้านวิชาการและข้อกฎหมายที่ถูกต้อง กำกับดูแลและป้องปรามผู้กระทำผิด ตลอดจนเข้าตรวจสถานที่ผลิตของผู้ผลิตชุมชน จำนวน 24 ราย ซึ่งเป็นผู้ผลิตชุมชนในจังหวัดชุมพร ระนอง ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง และนครศรีธรรมราช เพื่อให้มั่นใจว่ายังคงรักษาคุณภาพสินค้าตามมาตรฐาน มผช. รวมทั้งได้เข้าตรวจประเมินเบื้องต้นกับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการยื่นขอการรับรองมาตรฐาน มอก.เอส จำนวน 31 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในจังหวัดชุมพร 13 ราย ระนอง 7 ราย สุราษฎร์ธานี 3 ราย ตรัง 5 ราย และตรวจสอบความพร้อมหน้างานในเขตพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 1 ราย
“และท้ายสุดได้จัดให้มีพิธีมอบใบรับรอง มผช. และ มอก.เอส จำนวน 44 ราย เป็นผู้ผลิตชุมชน จำนวน 18 ราย ได้แก่ สินค้าแปรรูปทางการเกษตร ผักและผลไม้กวน เสื้อผ้า เครื่องเงิน สินค้าจากกะลามะพร้าว ฯลฯ และผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 26 ราย ได้แก่ แชมพูผสมสมุนไพร ยาสีฟันสมุนไพร การบริการนวดและสปา การบริการสถานีบริการน้ำมัน การบริการโรงแรม การบริการร้านกาแฟ การบริการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยว และการบริการที่พักสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยทั้งหมดเป็นผู้ผลิตชุมชนและผู้ประกอบการจากจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง พังงา ชุมพร สตูล สุราษฎร์ธานี สงขลา และระนอง ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่ดีด้านการมาตรฐานให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs รายอื่นๆ ผมเชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันเพื่อการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการที่ดียิ่งขึ้นต่อไป” เลขาธิการ สมอ.กล่าว