ผ้าสวนขันพันกลิ่น ผ้าพื้นถิ่นกลิ่นหอมอัตลักษณ์ชุมชน
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสวนขันเกษตรกรยั่งยืน ต.สวนขัน อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช คือหนึ่งในเป้าหมายของการการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าถิ่นในจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้มีอัตลักษณ์ของชุมชนนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าพื้นถิ่น ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น
ดร.รุ่งนภา พิมเสน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าภารกิจในการสร้างอัตลักษณ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผ้าถิ่นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสวนขัน เป็นหนึ่งพื้นที่เป้าหมายของ “โครงการการพัฒนาผ้าพื้นถิ่นกลิ่นหอมตามอัตลักษณ์ชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช” ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาระบบกลไกการดูดซับเศรษฐกิจผ้าพื้นถิ่น โดยมหาวิทยาลัยเป็นตลาด ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มรภ.นครศรีธรรมราชบริหารจัดการงานวิจัยแบบบูรณาการมีนักวิจัยร่วมงานกันถึง 4 คณะ คือ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะครุศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาการจัดการ
“เดิมทีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสวนขันเกษตรยั่งยืนทำผ้ามัดย้อม และผ้าบาติก เท่านั้น เมื่อเราลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน พัฒนาโจทย์วิจัยร่วมกัน อีกทั้งหาอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นร่วมกัน กระทั่งพบว่า ดอกขัน คือดอกไม้กลิ่นหอมอ่อนๆ พบมากทางภาคใต้ จึงนำโจทย์และจุดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ดังกล่าว มาพัฒนา และเมื่อได้ความรู้ใหม่จึงนำความรู้และเทคนิคไปถ่ายทอดให้ชาวบ้าน”
ในส่วนของการตรึงลายใช้เทคนิค Eco-Printing นำดอกขันและใบขันวางบนผ้า จากนั้นม้วนและมัดผ้าให้แน่นนำมาผ่านกระบวนการความร้อน ส่วนของการตรึงกลิ่นเป็นการนำดอกขันมาสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยและตรึงกลิ่นด้วยวิธี nano encapsulation ที่สังเคราะห์จากไคโตซานซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราเป็นตัวห่อหุ้มและน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีกลิ่นหอม และมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียเป็นแกนกลางด้วยวิธีแบบขั้นตอนเดียว นำ nanocapsule ของน้ำมันหอมระเหยที่ได้มาตรึงบนผ้าด้วยเทคนิค diping-coating ร่วมกับสารเติมแต่งอื่นๆ เพื่อให้ผ้าถิ่นมีกลิ่นหอม คงทนต่อการซัก และยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสวนขันเกษตรกรยั่งยืนไม่เพียงจะมีแต่ผ้าบาติก ผ้ามัดยอมเท่านั้น ยังมีผ้าคลุมไหล่คุณภาพสูงที่มีทั้งกลิ่นหอมจากดอกขันและลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์จากดอกและใบขัน สามารถซักทำความสะอาดได้มากกว่า 15 ครั้ง อีกทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนได้มากกว่า 5 เท่า อีกด้วย//