กลุ่มดุสิตธานี เผยรายได้ไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 51.65%
กลุ่มดุสิตธานีรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคมถึงกันยายน) ปี 2563 รายได้รวม 643 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ (QoQ) ซึ่งมีรายได้รวม 424 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นถึง 219 ล้านบาทหรือ 51.65% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งมีรายได้รวม 1,621 ล้านบาท
ขณะที่กำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ชี้สะท้อนเห็นสัญญาณการฟื้นตัวรายไตรมาสที่ชัดเจนมากขึ้น มั่นใจไตรมาสสุดท้ายของปี ภาพรวมอุตสาหกรรมทยอยปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ขณะที่ธุรกิจอาหารภายใต้การบริหารของกลุ่มดุสิตธานีมีแนวโน้มสดใส
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC เปิดเผยว่า แม้ว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้จะมีผลขาดทุนสุทธิ 343 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ 73 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯ ขาดทุนสุทธิ 878 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ 51 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีที่แล้ว แต่เมื่อพิจารณาผลประกอบการเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) บริษัทฯ เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของธุรกิจชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยเฉพาะรายได้รวมที่กลับมาเพิ่มถึง 51.65% จากไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นผลจากการที่ธุรกิจสามารถทยอยกลับมาให้บริการต่างๆ ได้อีกครั้ง
“หลังจากปีนี้เราได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 2 แบบเต็มไตรมาส ทำให้รายได้จากการขายและการบริการลดลง แต่ในไตรมาสที่ 3 สัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทั้งจากธุรกิจโรงแรมที่เริ่มมีอัตราการเข้าพักและรายได้เฉลี่ยต่อห้องเพิ่มขึ้น ในขณะที่ธุรกิจการศึกษาเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการกลับมาเปิดการสอนของโรงเรียนสอนการประกอบอาหาร และธุรกิจอาหารก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าลงทุนใน The Caterers ในประเทศเวียดนามตามแผนการขยายธุรกิจของบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง (Epicure Catering) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่กลุ่มดุสิตธานีเข้าไปถือหุ้น” นางศุภจีกล่าว
นอกจากนี้ กำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทฯ ยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ติดลบ 53 ล้านบาท น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 ติดลบ 207 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการปรับแผนธุรกิจ ตลอดจนปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมถึงการที่บริษัทฯ มีมาตรการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด เพื่อลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว
สำหรับในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เชื่อว่า ภาพรวมธุรกิจจะทยอยฟื้นตัว เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางมากขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐ ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา กลุ่มดุสิตธานีได้นำเสนอกลยุทธ์การขายและแนวทางการทำตลาดใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ รวมถึงมีแผนที่จะเปิดโรงแรมใหม่ที่ประเทศสิงคโปร์ภายใต้สัญญารับจ้างบริหาร ซึ่งจะทำให้จำนวนโรงแรมที่เปิดในปีนี้ครบ 5 แห่งตามแผนที่วางไว้ โดยปัจจุบันได้เปิดไปแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ โรงแรมดุสิตดีทู ซัลวา โดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อเดือนมีนาคม โรงแรมดุสิต รีสอร์ท กวม ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมิถุนายน โรงแรมดุสิตธานี เวลเนส รีสอร์ท ที่เมืองซูโจว ประเทศจีน เมื่อเดือนกรกฎาคม และโรงแรม อาศัย กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ในขณะที่ธุรกิจการศึกษา มีแนวโน้มดีขึ้นจากจำนวนนักศึกษาใหม่เพิ่มขึ้นของวิทยาลัยดุสิตธานี และความต้องการที่เพิ่มขึ้นในหลักสูตรของโรงเรียนสอนการประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต เช่นเดียวกับธุรกิจอาหารส่งสัญญาณบวกมากขึ้น โดยบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง เริ่มรับรู้รายได้อย่างเต็มจำนวนหลังจากโรงเรียนนานาชาติกลับมาเปิดดำเนินการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากโรงเรียนนานาชาติที่เซ็นสัญญามาใหม่ เช่น King’s College , Verso, ICS Udon Thani และ Lycée Français International de Bangkok นอกจากนี้ธุรกิจอาหาร NRF ที่ดุสิตเข้าลงทุนก็สามารถทำ IPO ได้ประสบความสำเร็จ โดยมีราคาตลาดที่สูงกว่าราคาจองซื้ออย่างมาก รวมถึงธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “Kauai” (คา-วา-อิ) เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังจากที่เพิ่มจำนวนจุดขาย Grab & Go ทำให้ปัจจุบันมีจุดขายทั้งหมด 4 แห่ง ประกอบด้วย เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ วิสซ์ดอม 101 ซึ่งเป็นสาขาแรก สยามดิสคัฟเวอรี เอ็มไพร์ทาวเวอร์ และเอ็มควอเทียร์
ทางด้านธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสม “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มีความคืบหน้าไปมาก โดยการก่อสร้างอยู่ระหว่างการดำเนินการโครงสร้างใต้ดิน (Sub-structure) และประมูลผู้รับเหมาหลัก และสามารถสรุปการขาย และทยอยลงนามในสัญญาไปแล้วบางส่วน
“ต้องยอมรับว่า แม้ผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 และงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ยังมีผลขาดทุนสุทธิ แต่ภาพรวมของธุรกิจถือว่าน่าพอใจ โดยเฉพาะเราได้ผ่านช่วงเวลายากลำบากที่สุดมาแล้วจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแพร่ระบาด ความรู้ความเข้าใจในการดูแลตัวเองของประชาชน รวมถึงความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และที่ผ่านมา แม้ว่ากลุ่มดุสิตธานีจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่เราใช้สถานการณ์นี้เป็นโอกาสในการใช้เวลาที่ทุกอย่างหยุดชะงักกลับมาจัดการปรับโครงสร้างองค์กร วางแผนการทำงาน วางแผนการตลาดให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19 ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ การสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างองค์กร ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและมีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งสุดท้ายจะสะท้อนผ่านความแข็งแกร่งของฐานะการเงินของกลุ่มดุสิตธานีที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานีกล่าว