บ้านปูฯ เผยการดำเนินงานไตรมาส 3 กลยุทธ์ Greener & Smarter
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ รายงานผลการดำเนินธุรกิจไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 สะท้อนประสิทธิภาพของการดำเนินมาตรการลดต้นทุน และบริหารงบลงทุนอย่างรัดกุมตั้งแต่ต้นปี โดยในสามไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทฯ เดินหน้าเต็มสูบเพื่อสร้างการเติบโตในพอร์ตธุรกิจที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter
สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บ้านปูฯ ได้รับเสียงสะท้อนจากสื่อและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานว่าเป็นหนึ่งในผู้เปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนได้อย่างชัดเจน ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทในการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG และกลยุทธ์ Greener & Smarter ทำให้เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกในไตรมาส 3 มีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นจากครึ่งปีแรก บริษัทฯ ยังคงดำเนินมาตรการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง และบริหารงบลงทุนอย่างรัดกุม เน้นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนในทันทีและมีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งเน้นการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคง ทั้งนี้เพื่อให้บริษัทฯ มีเสถียรภาพในการเติบโตทางธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างต่อเนื่อง”
ภาพรวมกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 บริษัทฯ ยังคงเน้นมาตรการลดต้นทุนการผลิตของเหมืองในทุกประเทศ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านอุปสงค์และราคาตลาดที่อ่อนตัวลง ในขณะเดียวกัน ได้ต่อยอดกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดยมุ่งขยายธุรกิจต้นน้ำ เน้นมองหาโอกาสเพิ่มเติมในการลงทุนที่สามารถสร้างพลังร่วม (synergy) กับแหล่งก๊าซธรรมชาติ 2 แหล่งที่มีอยู่ ในจังหวะราคาซื้อขายที่ต่ำลง รวมทั้ง มองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจกลางน้ำ เช่น ท่อส่งและระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการผลิตของแหล่งก๊าซที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตอกย้ำความเชื่อมั่นว่า ธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทฯ ได้อย่างมั่นคง
ส่วนกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน สามารถสร้างกระแสเงินสดและผลกำไรที่แข็งแกร่งให้กับบริษัทฯ ได้อย่างต่อเนื่อง รับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในสาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่มขึ้นจากปริมาณขายไฟฟ้าและไอน้ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและโรงไฟฟ้าเอชพีซีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมีการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างราบรื่น รวมถึงการก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่ยังคงเป็นไปตามแผน
สำหรับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ภายใต้การดำเนินงานของ ‘บ้านปู เน็กซ์’ รุดหน้านำเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น โดยร่วมกับภูเก็ต พัชทรี ทัวร์ นำเรือ ‘บ้านปู เน็กซ์ อีเฟอร์รี่’ (Banpu NEXT e-Ferry) เรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลลำแรกของไทย มาให้บริการในเส้นทางภูเก็ต-พังงา ยกระดับการบริการด้านการท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) รวมทั้งผลักดันสมาร์ทโมบิลิตี้ (Smart Mobility) อันเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ (Smart City) ส่งเสริมไลฟ์สไตล์คนเมืองยุคใหม่ให้หันมาใช้รถพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยนำโครงการ ‘Banpu NEXT EV Car Sharing’ มานำร่องเปิดจุดบริการระดับแฟล็กชิพแห่งแรก ‘สามย่านมิตรทาวน์’ ครบครันทั้งจุดรับ-คืนรถ และจุดชาร์จที่ใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งเดินหน้าขยายจุดบริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้าทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล เเละต่างจังหวัด
ล่าสุด บ้านปู เน็กซ์ ลงนามความร่วมมือครั้งสำคัญกับ ‘ไทร เบคก้า เอ็นเตอร์ไพร์ส’ พัฒนา ‘โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ หรือโซลาร์ลอยน้ำ’ (Solar Floating) กำลังการผลิตรวมสูงถึง 16 เมกะวัตต์ นับเป็นโครงการโซลาร์ลอยน้ำของภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อเสริมให้นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จ. ระยอง ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
“แม้จะพบกับความท้าท้ายในยุค “Never normal” บ้านปูฯ ยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ได้อย่างต่อเนื่อง เราพร้อมสร้างความเชื่อมั่นต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียด้วย “อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน (Smarter Energy for Sustainability)” โดยเรามุ่งมั่นที่จะสรรสร้างโซลูชันด้านพลังงานแบบครบวงจรที่เหมาะกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย และไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ด้วยการแสวงหานวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ เพื่อการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานแก่สังคม” นางสมฤดี กล่าวปิดท้าย
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) มีรายได้จากการขายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 รวม 470 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 14,739 ล้านบาท) โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 146 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 103 จากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม จากการลดลงของปริมาณขายและราคาขายเฉลี่ยของถ่านหินและก๊าซธรรมชาติตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก แม้จะมีการอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐที่ส่งผลให้บริษัทฯ รายงานกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ* ทำให้บริษัทฯ มีผลขาดทุน 16 ล้านเหรียญสหรัฐ