“AR” เนรมิตโลกการเรียนรู้เสมือนจริง
ในอดีตหลายคนอาจมองว่าหนังสือเรียนเป็นแค่อุปกรณ์การเรียนชิ้นหนึ่งที่มีไว้อ่านและท่องจำเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในห้องสอบเท่านั้น แต่ ณ ปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆด้าน ไม่เว้นแม้แต่โลกของการศึกษา ที่นวัตกรรมสามารถเข้ามาตอบโจทย์ และเสริมศักยภาพการเรียนการสอนได้มากขึ้น ทำให้หนังสือเรียนวิชาเดิมๆ กลายเป็นโลกแห่งการเรียนรู้เสมือนจริงที่ไม่ใช่แค่อ่านท่องจำเหมือนเดิมอีกต่อไป เทคโนโลยีที่ว่านั่นคือ “AR”
Augmented reality หรือ AR คือการนำเทคโนโลยีมาผสานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและความเสมือนจริงเข้าด้วยกัน ด้วยการใช้ระบบซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ โดยวัตถุเสมือนจริงที่ว่านี้ อาจจะเป็น ภาพ วิดีโอ เสียง ข้อมูลต่างๆ ที่ประมวลผลมาจากคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ทำให้เราสามารถตอบสนองกับสิ่งที่จำลองนั้นได้ โดย AR มักจะมาคู่กับ VR ด้วย ซึ่ง Virtual reality หรือ VR ก็คือ การจำลองภาพให้เสมือนจริงแบบ 360 องศา ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะต้องใช้ควบคู่กับอุปกรณ์สำคัญ นั่นก็คือแว่นตา VR โดยผ่านการรับรู้ของเราไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น เสียง การสัมผัส หรือแม้กระทั่งกลิ่น ทำให้เราสามารถตอบสนองกับสิ่งที่จำลองนั้นได้ โดยทั้ง AR และ VR สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายด้าน เช่น การบันเทิง การสื่อสาร การแพทย์ ธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงการศึกษา เป็นต้น
เมื่อ AR เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย นายนิติคุณ ยุกตะนันท์ (คุณโจ) กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิลูชั่น คอนเน็ก (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้หนึ่งที่มีความสนใจในเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่ตลอดเวลา จึงสนใจนำ AR มาพัฒนาในการทำงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจออกาไนเซอร์ และการศึกษา
คุณโจเล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีจบมาทางด้านแอนิเมชัน จึงนำงานแอนิเมชันมาเป็นจุดขายให้กับบริษัทเพื่อเสนองานอีเวนต์ต่างๆ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่าแอนิเมชันมันอิ่มตัวแล้ว และดูเป็นงานที่ธรรมดาๆ เกินไป มันไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับงานได้ บวกกับการที่ตัวเองเป็นคนชอบเทคโนโลยี จึงพยายามมองหาว่ามีอะไรใหม่ๆบ้างที่สามารถมาตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เพราะงานออร์กาไนเซอร์โดยส่วนใหญ่ต้องการความแปลกใหม่ และรูปแบบที่ยังไม่เคยมีใครทำ จึงมาสะดุดที่เรื่องของ AR
หลังจากที่นำ AR มาใช้ในงานอีเวนต์ระยะหนึ่ง ก็ได้รับความสนใจและมีผลตอบรับดีมากมีบริษัทน้อยใหญ่ติดต่อเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ผลงานที่เด่นๆ ก็เช่น ตันแลนด์ ของอิชิตัน และสถานีวัดมังกร ของเนสกาแฟ (อันนี้คิดว่าไม่ควรเอ่ยชื่อแบรนด์) เป็นต้น
จนวันหนึ่งได้รับการติดต่อจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นผู้ผลิตหนังสือเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ให้มาจัดทำหนังสือเรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้เทคโนโลยี AR เข้ามาช่วยเติมเต็มให้หนังสือเรียนเหล่านี้มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
“ปกติแล้วในหนังสือเรียนทั่วไปก็จะมีแค่รูปภาพประกอบ เป็นภาพสีบ้างภาพขาวดำบ้าง แตกต่างกันไปในแต่ละรายวิชา แต่ข้อด้อยของรูปภาพประกอบนี้ก็คือมันไม่มีการเคลื่อนไหวและไม่มีการอธิบายที่มากพอ ซึ่ง AR จะเข้ามาช่วยเติมเต็มข้อด้อยเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ในหนังสือเรียนวิชาฟิสิกส์ มันก็จะใส่ได้แค่รูปวงกลมนิ่งๆ แล้วก็มีลูกศรชี้ แต่พอเป็น AR มันจะแสดงเป็นโมเดล 3 มิติที่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งตอนที่เราทำกับ สสวท. จะมีนักวิชาการนับ 10 ท่านในแต่ละวิชา ที่คอยกำกับ ให้คำชี้แนะตลอดว่าโมเดลแต่ละชิ้นมันจะต้องเคลื่อนไหวหรือขยับแบบไหนจึงจะถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่ใช่ว่าเรานั่งคิดหรือจินตนาการขึ้นมาเอง ดังนั้นรายละเอียดของหนังสือเรียนในแต่ละเล่มจะค่อนข้างเยอะ ซึ่งใน 1 ปี เราสามารถผลิตหนังสือ AR นี้ได้ประมาณ 10 เล่ม”
หนังสือเล่มดังที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้และเป็นผลงานสร้างชื่อของเราก็คือ หนังสือวิทยาศาสตร์ชั้น ม.1 ที่เป็นเรื่องเซลล์พืชเซลล์สัตว์ ที่พอสแกนไปมันก็จะมีรูปโมเดลของเซลล์ต่างๆแสดงขึ้นมา เป็นภาพที่มีมิติและมีการเคลื่อนไหว แตกต่างจากเทคโนโลยีก่อนหน้านี้ที่ใช้สแกนคิวอาร์โค้ด เสร็จแล้วลิงค์ไปที่ยูทูป แต่เทคโนโลยี AR นี้เราสามารถเห็นโมเดลนี้โผล่ออกมาจากตัวหนังสือได้เลย จึงทำให้หนังสือเรียนดูน่าสนใจกว่า และจากผลงานเล่มแรกจนถึงปัจจุบันเราผลิตหนังสือเรียนที่มีเทคโนโลยี AR นี้ ให้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 – ม.6 แล้ว
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดว่าวิธีการใช้จะยุ่งยาก แต่ความจริงแล้วไม่ยากเลย เพียงแค่โหลดแอปพลิเคชันมาติดตั้งไว้บนสมาร์ทโฟน เมื่อจะใช้งานก็แค่สแกนที่รูปภาพในหนังสือเรียน ภาพเคลื่อนไหวเสมือนจริงก็จะแสดงขึ้นมา ทำให้การเรียนรู้สนุกสนานและน่าตื่นเต้นกว่า ที่สำคัญคือสามารถสแกนใช้งานได้ทุกที่แม้จะไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตก็ตาม
“ถ้าถามว่าในอนาคตเทคโนโลยี AR นี้จะพัฒนาต่อไปอย่างไร ผมว่ามันน่าจะพัฒนาไปเป็นแว่นตา เพียงแค่สวมแว่นตาภาพตรงหน้าก็แสดงออกมาเสมือนจริงได้เลย สามารถใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนในห้องเรียนได้ ซึ่งในต่างประเทศก็มีการทดลองใช้เทคโนโลยี AR นี้ในการสอนคนให้ซ่อมรถยนต์ได้ด้วย”
คุณโจเพิ่มเติมว่า เรามองเห็นถึงความสามารถของ AR จึงมีแนวคิดที่อยากเผยแพร่ให้บุคลากรทางการศึกษา และคนทั่วไปได้ทราบ จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมงาน EdTeX หรือ Thailand’s Education Technology Expo ที่ในปีนี้จัดในรูปแบบ Webinar เพราะมั้นใจว่า EdTeX จะเป็นเวทีที่จะสามารถสร้างและเผยแพร่ความรู้ สู่คนวงการศึกษา รวมถึงผู้ปกครองและนักเรียนด้วย ท่านที่สนใจในเทคโนโลยีการศึกษา สามารถติดตามรายละเอียดของงาน EdTeX เพิ่มเติมได้ทาง Facebook Fanpage : EDTEXEXPO หรือที่ Website: www.edtex-expo.com
เรียกได้ว่า AR เป็นเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการเรียนการสอนในยุค New Learning ค่อนข้างมาก เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนเริ่มใช้หนังสือที่เป็นกระดาษกันน้อยลง ในขณะที่ AR มันสามารถใช้ผ่านสมาร์ทโฟนได้โดยตรง เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วหนังสืออาจไม่จำเป็น ขณะเดียวกันถือเป็นการช่วยลดการใช้กระดาษได้ด้วยอีกทั้งสมาร์ทโฟนแทบทุกรุ่นที่เปิดตัวตอนนี้จะต้องมีเทคโนโลยี AR เป็นจุดขาย ดังนั้นไม่ใช่แค่สื่อการเรียนการสอนเท่านั้น แต่เชื่อว่าอีกไม่นาน AR จะค่อยๆแทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราทุกคนก็เป็นได้