BBL ชวนสื่อฯเยี่ยมเกษตรกรยุค New Normal
ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ นำคณะสื่อฯ พศส. ปี’63 ศึกษาดูงาน “การปรับตัวรับ New Normal ของภาคธุรกิจ/การค้า” ในพื้นที่ “ศูนย์เรียนรูฯทุมธานี – วาสนาฟาร์มเมล่อน สระบุรี” ชี้ตัวอย่างการปรับตัว ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี-ปรับโมเดลธุรกิจ เพิ่มทางรอดให้ธุรกิจ ผู้บริหารแบงก์กรุงเทพ ย้ำ! ความสำคัญภาคเกษตรต่อเศรษฐกิจไทย พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่แบงก์ลงพื้นที่ดูแลลูกค้าใกล้ชิด แนะนำมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่อง ชี้! แอปฯฟาร์มโตะ คือ อีกตัวอย่างความสำเร็จ
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ นำคณะสื่อมวลชนผู้เข้าอบรม โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ปี 2563 ศึกษาดูงาน “การปรับตัวรับ New Normal ของภาคธุรกิจ/การค้า” ในพื้นที่ ศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนจ.ปทุมธานี ซึ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาสร้างให้เกิดพลังเครือข่ายเกษตรกร บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อ “FARM•TO” (ฟาร์มโตะ) และ วาสนาฟาร์มเมล่อน จ. สระบุรี ที่บริหารจัดการภายใต้หลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ทั้งยังลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพการทำการเกษตรและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2563
นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารฯ ให้การสนับสนุนโครงการ พศส. ต่อเนื่องเป็นเวลา 14 ปีแล้ว โดยเฉพาะปีนี้ที่เกิดวิกฤติครั้งใหญ่ทำให้บริบทต่างๆ ของทั้งประเทศไทยและทั่วโลก เปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เป็นปัจจัยเร่งให้ทั่วโลกก้าวเข้าสู่ยุค New Normal ส่งผลให้บทบาทของเทคโนโลยีและดิจิทัลจึงเข้ามามีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับตัวของผู้ประกอบการในภาคการเกษตร ที่มีความน่าสนใจอย่างมาก ทั้งการปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน เพื่อลดขนาด ลดต้นทุนทางธุรกิจ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทายรอบด้านอยู่แล้ว
ที่ผ่านมา ธนาคารฯได้ดูแลกลุ่มเกษตรกรมาต่อเนื่อง ผ่าน โครงการ “เกษตรก้าวหน้า” นับแต่ปี 2542 เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรู้จักปรับเปลี่ยน มาเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตรและบริหารจัดการเชิงธุรกิจ โดยใช้นวัตกรรมและการตลาดนำการผลิต รวมทั้งช่วยหาตลาดจำหน่ายผลผลิตผ่านการจัดงาน “วันเกษตรก้าวหน้า” เปิดโอกาสให้เกษตรกรนำผลผลิตที่มีคุณภาพมาจำหน่ายด้วยตนเอง และมีโอกาสพบผู้บริโภคได้โดยตรง พร้อมทั้ง จัดพิธีมอบรางวัล “เกษตรก้าวหน้า” เพื่อเชิดชูเกียรติให้เกษตรกรที่มีผลงานสอดคล้องกับแนวคิดและหลักการของโครงการเกษตรก้าวหน้า โดยจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ธนาคารฯได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าและบรรเทาความเดือดร้อนด้วยมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เน้นให้ความช่วยเหลือก่อนที่ลูกค้าจะมีปัญหาในการดำเนินธุรกิจ โดยเน้นการเพิ่มสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และความสามารถของลูกค้าแต่ละราย
นายอาทิตย์ จันทร์นนทชัย ผู้ก่อตั้งเครือข่ายทางการเกษตรผ่าน Application “FARM•TO” (ฟาร์มโตะ) เจ้าของรางวัล “เกษตรก้าวหน้า ปี 2562” จากธนาคารกรุงเทพ ในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์มที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในภาคการเกษตร สร้างการรวมกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรที่มีผลผลิตได้มาตรฐาน ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการปัญหาสำคัญของกลุ่มเกษตรกรไทย โดยเฉพาะด้านการตลาดที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง กล่าวว่า หลังเข้ามาทำการเกษตรสักระยะหนึ่ง จึงเริ่มเข้าใจปัญหาของเกษตรกร โดยเฉพาะด้านการตลาดที่ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง
จึงเริ่มสร้างเครือข่ายโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเชื่อมโยงเกษตรกรเข้ากับผู้บริโภค พัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อเป็นสื่อกลางให้เกษตรกรและผู้บริโภคใกล้ชิดกันมากขึ้น และเข้าถึงตลาดสินค้าคุณภาพสำหรับกลุ่มลูกค้ามีกำลังซื้อสูง ทำให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้สูงไม่แพ้อาชีพอื่น ส่งผลให้คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจและหันกลับมาประกอบอาชีพด้านการเกษตร ขณะที่ผู้บริโภคก็สามารถเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและราคาเหมาะสม
“จุดเด่นของฟาร์มโตะ นอกจากเกษตรกรจะสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง เพื่อซื้อขายสินค้าที่มีคุณภาพได้แล้ว ยังมีกิจกรรมพาผู้ซื้อและผู้ปลูกมาพบกัน โดยที่ผู้ซื้อสามารถเป็นเจ้าของผลผลิตร่วมกัน และสามารถเยี่ยมชมตรวจสอบผลผลิตได้ตามต้องการ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคในเมืองยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญเรื่องของอาหารปลอดภัย ฟาร์มโตะจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ สามารถเลือกซื้อสินค้าจากแหล่งผลิตอาหารต้นทางที่มีความน่าเชื่อถือสูง รวมไปถึงช่วยควบคุมผลผลิตไม่ให้มีออกมามากเกินไปจนล้นตลาด ทั้งนี้ ฟาร์มโตะ จะคิดค่าบริการร้อยละ 20 จากราคาที่คิดกับผู้ซื้อ ซึ่งไม่ได้ทำให้รายได้ของเกษตรกรหายไป เนื่องจากราคาที่จำหน่าย เมื่อผ่านกระบวนการแปรรูปสินค้า เช่น จากข้าวเปลือกเป็นข้าวเป็นข้าวกล้อง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว” นายอาทิตย์ ระบุ
สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชัน “ฟาร์มโตะ” ในช่วงแรกจะเน้นกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ใช้งานเทคโนโลยีอยู่แล้ว เชื่อมโยงไปกับแอปพลิเคชันที่คุ้นเคยและใช้งานอยู่เป็นประจำ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น ก่อนจะพัฒนาและเพิ่มฟังก์ชันต่างๆ โดยปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมในโครงการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มมากกว่า 50 ราย และมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 2,000 ราย โดยที่เกษตรกรส่วนใหญ่สามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา สามารถสร้างยอดขายผ่านแพลตฟอร์ม ฟาร์มโตะ ราวเดือนละกว่า 30,000 บาท พร้อมกับตั้งเป้าจะเพิ่มยอดดาวน์โหลดให้ครบ 1 ล้านราย ภายใน 3 ปีนับจากนี้ นอกจากนี้ ยังเตรียมจะสร้างมาตรการใหม่ที่เรียกว่า “ฟาร์มโตะ ทู ซีเร็ค เทคฯ” เพื่อตอกย้ำถึงมาตรการคุณภาพของสินค้าที่จำหน่ายผ่านแอปพลิเคชัน “ฟาร์มโตะ” ในโอกาสต่อไป
ด้าน นางวาสนา สุขพิงค์ เจ้าของฟาร์ม “วาสนาฟาร์มเมล่อน” กล่าวว่า ตนลองผิดลองถูกปลูกพืชสารพัดชนิดก่อนจะหันมาโฟกัส “เมล่อน” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจดาวเด่นตัวใหม่ แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนักในขณะนั้น โดยเริ่มต้นจากการปลูกเมล่อนเพียง 2 แปลง ในปี 2546 ก่อนจะขยับขยายทีละเล็กน้อย จนปัจจุบันวาสนาฟาร์มมีพื้นที่มากกว่า 200 ไร่ โดยจุดมุ่งหมายในการหันมาทำการเกษตร เพื่อต้องการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่คนส่วนใหญ่มีต่ออาชีพเกษตรกรว่าไม่สามารถรวยได้ จึงพยายามสร้างความแตกต่างและตรงความต้องการของตลาด
โดยศึกษาอย่างลึกซึ้งและจริงจัง นำหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่มาบริหารจัดการ การปลูกในโรงเรือนแบบปิดและภายนอกโรงเรือน รวมทั้งลงทุนทำเกษตร Automation ให้รองรับโลกยุคดิจิทัล เน้นการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการเพาะปลูก เพื่อนำไปพัฒนาแนวทางการผลิต และบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น เพื่อให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี รวมทั้งลดปริมาณความสูญเสียต่างๆ ให้น้อยลง
ปัจจุบันผลผลิตของวาสนาฟาร์ม สามารถขายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ทั้งในเครือเดอะมอลล์, ท็อปส์, บิ๊กซี, โกลเด้นเพลส และสร้างยอดขายแต่ละปีได้หลายร้อยล้านบาท สามารถลบคำสบประมาทและสร้างความเชื่อใหม่ว่าเป็นเกษตรกรไทยก็สามารถรวยได้ แต่ต้องรู้จักปรับตัว เข้าใจตลาด และรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ ทั้งในการบริหารจัดการ หรือการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในสถานการณ์โควิด 19 แพร่ระบาด “วาสนาฟาร์มเมล่อน” ก็ได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดสำคัญอย่างห้างสรรพสินค้าปิดบริการ ทำให้ออเดอร์ถูกยกเลิกและมีการชะลอคำสั่งซื้อมากกว่า 50% ทำให้ต้องลดต้นทุนการผลิตและแรงงานลงกว่าครึ่ง รวมทั้งปัญหาผลผลิตล้นตลาด จึงต้องมองหาตลาดกลุ่มใหม่ เช่น การแปรรูปเมล่อนสดเป็นแบบอบกรอบ (Freeze Dried) และการเพิ่มช่องทางจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Farmfresh by Wasana Melon Farm ให้เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง
รวมทั้งขยายตลาดต่างประเทศ เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ซึ่งนิยมบริโภคเมล่อนและแคนตาลูปเหมือนคนไทย รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มโมเดลธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่คาดว่าผู้บริโภคจะให้การตอบรับเป็นอย่างดี หากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงในอนาคต.