บัญชีจุฬาฯ ต้นแบบ “Safe Haven for Lifeline Learning”
บัญชีจุฬาฯ ต้นแบบ “Safe Haven for Lifeline Learning” การพลิกโฉมโมเดลการศึกษาระดับโลก
หลังจากสร้างผลงานโดดเด่นในการรับมือกับการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ผ่านหลากหลายโครงการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้อนรับเปิดเทอมและวิถีปกติใหม่ด้วยระบบการเรียนรู้ผ่าน CBS Lifeline Learning Approach ซึ่งถือเป็นต้นแบบการสร้างมิติใหม่ในระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ที่ได้รับการออกแบบเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มากกว่าออนไลน์และออฟไลน์ผสมผสานกัน แต่เป็นไลฟ์ไลน์เส้นทางการเรียนรู้ตามชีวิตของนิสิต
รศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบให้คุณภาพการเรียนการสอนด้อยลง เนื่องจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ไม่ได้มีการเตรียมตัวรองรับภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น แต่คณะบัญชีฯ จุฬาฯ ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการท่ามกลางวิกฤต เพราะได้วางพื้นฐานที่ดี และปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลด้วยการพัฒนาระบบการเรียนออนไลน์มาก่อนที่จะเกิดโควิด-19
ทุกวันนี้ การเรียนไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น เพราะผู้เรียนสามารถหาความรู้เพิ่มเติมผ่านโลกไซเบอร์ ดังนั้น คณะบัญชีฯ จุฬาฯ จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนครั้งใหญ่ เรียกว่า CBS Lifeline Learning ที่มากกว่าการเชื่อมระบบการเรียนออฟไลน์กับออนไลน์เข้าด้วยกัน ให้เกิดการเรียนรู้ในทุกที่ของชีวิต โดยยกระดับการเรียนรู้ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และเป็นโมเดลการเรียนรู้ยุคใหม่ที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก
“ไม่เพียงแต่พัฒนาแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพ เราต้องเปลี่ยนความคิดของผู้เรียนด้วยว่า การเรียนรู้ไม่ใช่เกิดในห้องเรียนหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่เกิดขึ้นได้ทุกขณะจิต ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน ในรถไฟฟ้า หรือเล่นโซเชียลมีเดีย ฉะนั้น เป้าหมายก็คือ สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ โดยทำให้นิสิตมีความกระหายใคร่รู้ตลอดเวลาด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่การเรียนตามหลักสูตรเท่านั้น”
รศ. ดร. วิเลิศ กล่าวว่า คณะบัญชีฯ จุฬาฯ ยังคงเป็นสถาบันชั้นนำของประเทศในหลักสูตรนานาชาติ ทั้งระดับปริญญาตรี และปริญญาโท โดยปีนี้ มีผู้สมัครเรียนหลักสูตรนานาชาติเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งทำให้นักเรียนไทยไม่สามารถเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศได้ จึงมุ่งหน้าเลือกสถาบันการศึกษามาตรฐานระดับโลกในไทย
“คณะบัญชีฯ จุฬาฯ ดึงดูดนักเรียนเก่งๆ มาเรียนต่อหลักสูตรนานาชาติเป็นจำนวนมาก โดยการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติด้านการบริหารธุรกิจ ระดับปริญญาตรี หรือ BBA ปรากฎว่า คะแนนสอบ SAT (Scholastic Assessment Test) สูงถึง 1,560 คะแนน เป็นคะแนนระดับท็อปต้นๆ ของประเทศไทย และเป็นระดับที่สามารถสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแนวหน้าของโลกได้”
รศ. ดร. วิเลิศ ชี้ว่า การเรียนโมเดลใหม่ จะเอื้อให้คณะฯ สามารถเชิญศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก อาทิ ฮาร์วาร์ด อ็อกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ และสแตนฟอร์ด มาร่วมสอนหลักสูตรนานาชาติในทุกคอร์ส ทั้งปริญญาตรีและโท ได้ง่ายขึ้น จากเดิมจะเชิญยากมาก เพราะต้องใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับไม่น้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์ อีกทั้งยังเสียค่าใช้จ่ายสูง
“วันนี้ คณะบัญชีฯ จุฬาฯ จึงไม่ใช่เป็นแค่สถานศึกษาที่เรียนออฟไลน์ออนไลน์ แต่เป็นสัญลักษณ์ของการเรียนรู้ที่พัฒนาคุณค่าแห่งชีวิตของคุณได้ทุกที่ ทุกเวลา”
ขณะเดียวกัน คณะฯ ให้ความสำคัญกับการเรียนภายใต้วิถีปกติใหม่ ด้วยการทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากไวรัส หรือ CBS Safe Haven Model เพื่อให้นิสิตมาเรียนด้วยความมั่นใจ ซึ่งมีมาตรการตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข พร้อมทั้งแจกทั้ง faceshield และหน้ากากอนามัย ให้กับนิสิตทุกคน ทั้งนี้ คณะฯ ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด เพื่อสนับสนุนหุ่นยนต์ “บันชี่” ซึ่งสามารถพ่นฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่า และวัดอุณหภูมิตามจุดคัดกรองของคณะฯ
ก่อนหน้านี้ คณะฯ ร่วมกับทิพยประกันภัย เพื่อให้ความคุ้มครองพิเศษแก่นิสิตและคณาจารย์ของคณะฯ ในการรักษาโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
เพื่อสนับสนุนการเรียนออนไลน์ คณะฯ ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) ผู้จำหน่ายสินค้าไอที โดยคอมเซเว่น จะมอบคอมพิวเตอร์จำนวน 20 เครื่องให้แก่คณะฯ อีกทั้งยังมีข้อเสนอให้นิสิตยืมใช้งานในระหว่างเรียน เช่า ซื้อแบบผ่อนชำระ หรือซื้อในราคาพิเศษ ขณะที่ห้องเรียนบางห้อง และห้องสมุดบางส่วนจะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น Co-working space เพื่อให้นิสิตสามารถมาใช้เป็นพื้นที่เรียนออนไลน์ได้
นอกจากการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนแล้ว คณะฯ ยังส่งเสริมให้นิสิตมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมผ่านโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการฝึกงานจำลอง หรือ CBA (Chulalongkorn Business Administration) ซึ่งเป็นโครงการฝึกงานนิสิตในรูปแบบการดำเนินธุรกิจจริง เพื่อเสริมสร้างนิสิตให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพและนำผลกำไรจากการดำเนินงานคืนสู่สังคมในรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
รศ. ดร. วิเลิศ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า คณะฯ จะลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อให้นิสิตมีส่วนช่วยพัฒนาแผนธุรกิจในยุคดิจิทัล เพื่อให้เอสเอ็มอีฟันฝ่าวิกฤตไปได้ นอกจากนี้ คณะฯ จะจับมือกับ บริษัท สยามพิวรรธน์ เปิดโอกาสให้นิสิตเข้าไปช่วยด้านแผนการตลาดและการขายแก่ผู้ค้ารายย่อยในโซนสุขสยาม ชั้น G ไอคอนสยามอีกด้วย
เห็นโมเดล The Safe Haven of Lifeline Learning เพื่อการจัดการการเรียนรู้ของคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ในรอบด้านในช่วงวิกฤตแบบนี้แล้ว ต้องคิดเลยไปว่านี่ไม่ใช่แค่ทัดเทียมคุณภาพการเรียนรู้ระดับโลก แต่เป็นการก้าวล้ำที่เป็นโมเดลคุณภาพ สมกับคณะแห่งการบริหารอันดับหนึ่งแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย.