CPL ยอมรับอุตฯ ฟอกหนังงานหนัก ลุ้นปรับแผนรุกลูกค้า
CPL ยอมรับอุตฯ ฟอกหนังงานหนัก ลุ้นปรับแผนรุกลูกค้ารายย่อยครึ่งปีหลัง เดินเกมคุมต้นทุนแน่น ส่งผล 6 เดือนแรกพลิกขาดทุนเป็นกำไร 28 ล้านบาท
“ซีพีแอล” ยอมรับภาพรวมอุตสาหกรรมฟอกหนังและผลิตหนังสำเร็จรูป รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แบบเต็มๆ เหตุพึ่งพาการส่งออกสูง แต่ยังฝ่ากระแสวิกฤติด้วยการพลิกผลการดำเนินงานทั้งในไตรมาสที่ 2 และช่วง 6 เดือนแรก จากที่เคยขาดทุนในปีก่อนเป็นกำไร 22.93 ล้านบาทและ 28.03 ล้านบาทในปีนี้ตามลำดับ เผยปัจจัยหลักมาจากต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน ยังรับรู้รายการพิเศษจากรายได้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ เงินชดเชยค่าภาษีอากรและกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ด้านธุรกิจเซฟตี้ โปรดักส์ ได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้าหลักหยุด-ชะลอการผลิตช่วงล็อคดาวน์ รอลุ้นกิจกรรมเศรษฐกิจกระเตื้องครึ่งปีหลัง พร้อมปรับแผนรุกลูกค้ารายย่อย เตรียมผลิตสินค้าใหม่เจาะกลุ่มผู้บริโภคโดยตรง ประเดิมออกบูธร่วมงาน “บ้านและสวนแฟร์” ระหว่าง 7-16 ส.ค.ที่ผ่านมา
นายภูวสิษฏ์ วงษ์เจริญสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพีแอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CPL ผู้นำอุตสาหกรรมฟอกหนังสำเร็จรูปรายใหญ่ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (เซฟตี้โปรดักส์) ภายใต้แบรนด์ “แพงโกลิน” ซึ่งเป็นกิจการในกลุ่มบริษัทเจริญสิน เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ภาพรวมของธุรกิจผลิตและจำหน่ายหนังสำเร็จรูป (Finishing Product) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนรายได้ 58% ของรายได้รวมของ CPL ประสบปัญหาซบเซาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้หนังในตลาดโลกลดลง ส่งผลกระทบกับยอดสั่งซื้อของบริษัทฯ เช่นเดียวกับธุรกิจฟอกหนัง (Tanning) ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ 3% ของรายได้รวม ที่คำสั่งซื้อลดลงโดยเฉพาะหนังวัว แต่การรับฟอกหนังหมูยังมีทิศทางที่ดี ขณะที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายรองเท้านิรภัยและอุปกรณ์นิรภัย (Safety Product) ภายใต้แบรนด์ “แพงโกลิน” ที่มีสัดส่วน 39% ของรายได้รวม ก็ประสบปัญหาจากการที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักต้องหยุดผลิตหรือชะลอการผลิตในช่วงล็อคดาวน์ ทำให้ยอดขายสินค้าเซฟตี้ปรับตัวลดลงเช่นกัน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CPL กล่าวว่า แม้ว่าธุรกิจทั้ง 3 ด้านของ CPL จะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก แต่ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 และ 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯ ยังสามารถพลิกจากที่เคยขาดทุนในปีที่แล้วที่ 21.71 ล้านบาท และ 49.60 ล้านบาท เป็นกำไรสุทธิ 22.93 ล้านบาท และ 28.03 ล้านบาทตามลำดับ โดยปัจจัยหลักที่สำคัญมาจากการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ครึ่งแรกของปีนี้ บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการขายลดลง 27 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลง 30 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ สามารถกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานตามปกติได้ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังรับรู้รายได้จากรายการพิเศษ อาทิ ดอกเบี้ยจากเงินลงทุนในหุ้นกู้ เงินชดเชยค่าภาษีอากรมาตรา 19 ทวิ และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งด้วย
“ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมฟอกหนังเจองานหนักมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนมาเจอกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 คือหนักที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตาม เราพยายามประคับประคองธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเรื่องของต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะทำให้เราสามารถกลับมามีกำไรได้อีกครั้งจากที่เคยขาดทุนเมื่อปีที่แล้ว โดยที่อัตรากำไรขั้นต้นต่อรายได้จากการขาย (มาร์จิ้น) ก็ปรับตัวดีขึ้นจาก 10.81% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีที่แล้ว ขึ้นมาอยู่ที่ 22.37% ในช่วงเดียวกันของปีนี้ แต่จริงๆ แล้วหากสินค้าในกลุ่มเซฟตี้โปรดักส์ไม่ได้รับผลกระทบจากการโรงงานอุตสาหกรรมหรือธุรกิจก่อสร้างซึ่งเป็นลูกค้าหลักของเราต้องชะลอการผลิต อัตรามาร์จิ้นก็ควรจะเติบโตกว่านี้ ซึ่งตอนนี้ต้องรอลุ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากการคลายล็อคดาวน์ว่าโรงงานต่างๆ จะสามารถกลับมาเดินเครื่องได้เต็มที่หรือไม่ และยอดขายในกลุ่มสินค้าเซฟตี้จะกลับมาได้หรือไม่” นายภูวสิษฏ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ อยู่ระหว่างการปรับแผนธุรกิจ โดยมองหาธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจดั้งเดิม เช่น การผลิตสินค้าสำหรับลูกค้ารายย่อย เป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันต่อยอดจากวัตถุดิบที่มีอยู่ อาทิ หน้ากากหนัง Pango Mask รองเท้าและอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งปีนี้บริษัทฯ ได้ทดลองนำสินค้าไปเปิดตัวและวางจำหน่ายในงาน “บ้านและสวนแฟร์” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-16 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อทดสอบตลาดและนำกลับมาพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงพัฒนาการตลาดและการขายให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วย