โครงการรับรองมาตรฐานวิชาชีพของหัวเว่ย
โครงการรับรองมาตรฐานวิชาชีพของหัวเว่ย เสริมแกร่งระบบนิเวศด้านบุคลากรไอซีทีในเอเชียแปซิฟิก
บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เผยแผนระยะยาวเพื่อลดช่องว่างด้านบุคลากรไอซีที
เร่งทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันในงานประชุม Huawei Asia Pacific ICT Talent Forum 2020
กรุงเทพฯ 4 สิงหาคม 2563 – หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จัดงานประชุม Huawei Asia Pacific ICT Talent Forum 2020 สำรวจเทรนด์แรงงานด้านไอซีทีและกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ในงานประชุมออนไลน์ดังกล่าวซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน หัวเว่ยได้ประกาศแผนระยะยาวในการพัฒนาระบบนิเวศด้านบุคลากรไอซีทีที่ครบรอบด้าน พร้อมโครงการรับรองมาตรฐานวิชาชีพใหม่เพื่อพัฒนาระบบนิเวศด้านบุคลากรไอซีที ปูทางสู่การทรานสฟอร์มด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน
งานสัมมนาได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมและศาสตราจารย์ด้านไอทีมาร่วมพูดคุยถึงความต้องการแรงงานทักษะสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังได้นำเสนอแผนดำเนินงานที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านไอซีทีในภูมิภาคได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย ในงานยังได้ประกาศเปิดโครงการ Huawei Asia Pacific ICT Certification ให้แก่นักศึกษาหรือผู้ทำงานในสาขาไอซีที ที่เคยเข้าร่วมหรือสนใจเข้าร่วมโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะแคเดมี่ (Huawei ICT Academy) โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2563 ผู้เข้าร่วมโครงการที่สอบผ่านโดยใช้เวลาที่น้อยที่สุดจะได้รับรางวัลตามลำดับเวลาที่ทำได้
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นความสำเร็จในการคิดค้นเทคโนโลยีมากมายที่เข้ามาเปลี่ยนโลกของเรา “รากฐานของอุตสาหกรรมไอซีทียุคใหม่ในปัจจุบันประกอบด้วยคลาวด์คอมพิวติ้ง บิ๊กดาต้า อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และปัญญาประดิษฐ์” นายไมเคิล แมคโดนัลด์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและที่ปรึกษาผู้บริหาร ของหัวเว่ย เอเชีย แปซิฟิก เผยในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์เรื่องการสร้างอีโคซิสเต็มด้านไอซีทีที่รอบด้าน
การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความแพร่หลายมากขึ้นทำให้ทักษะด้านไอทีพื้นฐานไม่เพียงพออีกต่อไป “องค์กรทั้งหลายเริ่มปรับเปลี่ยนคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของพนักงาน ภูมิทัศน์ไอซีทีโฉมใหม่จะทำให้ตลาดขาดแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงราว 5 ล้านคน เราตั้งเป้าที่จะพัฒนาแรงงานไอซีทีให้ได้ 2 ล้านคนในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อป้อนแรงงานที่มีทักษะซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการเข้าสู่ตลาด ในปี 2563 เราจะตั้งโครงการ Huawei ICT Academy อีกกว่า 200 แห่ง ตลอดจนฝึกอบรมและออกใบรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ให้แก่นักศึกษาและพนักงานกว่า 10,000 คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบบนิเวศบุคลากรด้านไอซีทีเป็นกลยุทธ์ระยะยาวของหัวเว่ย และเราจะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและพันธมิตรด้านการฝึกอบรมของหัวเว่ย (HALP – Huawei Authorized Learning Partner) ในแต่ละประเทศ เพื่อช่วยเสริมทักษะวิชาชีพให้แก่นักศึกษาและคนที่ทำงานด้านไอซีที” นายไมเคิล กล่าว
ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันไอซีทีชั้นนำระดับโลก หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะสร้างอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรไอซีทีที่ครอบคลุมรอบด้าน ซึ่งจะช่วยให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงกลายมาเป็นความท้าทายของหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่อุตสาหกรรมไอซีทีมีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก ในขณะที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ AI และ 5G มีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น ภูมิภาคนี้จำเป็นต้องทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อกำหนดมาตรฐานที่ช่วยจับคู่บุคลากรกับโอกาสในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล
เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ หัวเว่ยได้สร้างระบบนิเวศด้านบุคลากร เพื่อสนับสนุนการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่อุตสาหกรรมไอซีที อันสอดคล้องกับกลยุทธ์การบ่มเพาะบุคลากรของบริษัท ระบบนิเวศนี้ประกอบไปด้วยกิจกรรมหลัก 3 โครงการด้วยกัน คือ ประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพของหัวเว่ย (Huawei Certification), โครงการหัวเว่ย ไอซีที อะแคเดมี่ (Huawei ICT Academy) และการแข่งขัน Huawei ICT Competition
ประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพของหัวเว่ย (Huawei Certification) ซึ่งเป็นประกาศนียบัตรมาตรฐานด้านบุคลากรที่ครอบคลุมการสอบรับรองความรู้ถึง 100 หัวข้อ และสาขาเทคนิค 22 สาขา ที่ผ่านมาได้ออกใบรับรองนักศึกษาและพนักงานด้านไอซีทีไปแล้วกว่า 260,000 คน รวมถึง 19,000 คนในเอเชียแปซิฟิก โครงการ Huawei ICT Academy ซึ่งเปิดตัวในปี 2556 ได้จับมือกับสถาบันการศึกษาระดับสูงกว่า 900 แห่ง เพื่อเปิด
คอร์สการสอนและฝึกอบรมด้านไอซีทีให้แก่นักศึกษากว่า 45,000 คนในแต่ละปี ปัจจุบัน หัวเว่ยได้จัดตั้งโครงการความร่วมมือไอซีที อะแคเดมี่ ไปแล้ว 103 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หัวเว่ยยังได้เริ่มจัดการแข่งขันด้านไอซีทีในปี 2558 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรผ่านการแข่งขันวัดความรู้ในระดับนานาชาติ “การแข่งขันจะช่วยให้นักศึกษาได้รับการยอมรับและมีโอกาสได้ทำงานที่มีคุณค่าในองค์กรชั้นนำ” มร. ไมเคิล กล่าว
ตลาดไอซีทีในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว หัวเว่ยได้ประกาศการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายสิบแห่งเพื่อตั้งโครงการหัวเว่ย อะแคเดมี่ ในประเทศไทย การแข่งขัน Huawei ICT Competition ครั้งแรกในประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อปี 2561 มีนักศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 2,000 คน ทีมผู้ชนะระดับประเทศจำนวน 3 คน ได้รับโอกาสเป็นตัวแทนประเทศในเวทีการแข่งขันระดับโลกที่เซินเจิ้น ประเทศจีน หัวเว่ยมุ่งมั่นแสวงหาวิธีใหม่ ๆ ในการบ่มเพาะบุคลากรด้านไอซีทีอยู่เสมอ พร้อมสนับสนุนรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ด้วยเป้าหมายสูงสุดในการเติมเต็มช่องว่างระหว่างความต้องการจากองค์กรและการจัดหาบุคลากรด้านไอซีทีของมหาวิทยาลัย หัวเว่ยมุ่งหวังที่จะช่วยหลากหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก วางรากฐานไอซีทีที่แข็งแกร่งมั่นคงเพื่อรองรับอนาคตที่จะมาถึง