กสอ.จัดงาน “มหกรรมคิวซี” ลดต้นทุนผู้ประกอบการ
กสอ. จัดงาน มหกรรมคิวซีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 สร้างไอเดีย สำหรับผู้ประกอบการยกระดับกระบวนการผลิตให้มีศักยภาพ ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตได้สูงสุดกว่า 3,470 ล้านบาท
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหรรม(กสอ.) เปิดเผยว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรกติดลบ ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ทั้งในการสภาพคล่อง และ การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ซึ่งที่ผ่านมา หลายกิจการใช้วิธีการลดต้นทุน ที่อยู่ในรูปแบบของแรงงาน ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้าง และสถิติการว่างงานที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงไป ทำให้กระบวนการทำงานในการผลิตสินค้าหรือบริการในการดำเนินธุรกิจที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า มุ่งเน้นไปที่การลดต้นทุนที่จะทำให้เกิดความประหยัดและลดความสูญเปล่าที่อันอาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการการทำงานให้น้อยมากที่สุด อาทิ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิต การขนส่ง คลังสินค้า ซึ่งหากสามารถลดความสูญเสียดังกล่าวได้ จะช่วยให้ศักยภาพในภาคการผลิตเพิ่มมากขึ้น และทำให้ดัชนีอุตสาหกรรมปลายปี 63 กลับมาสู่แดนบวกดังเดิม
พร้อมกันนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมคุณภาพแห่งประเทศไทย จัดงาน “มหกรรมคิวซีแห่งประเทศไทย” ขึ้นเป็นปีที่ 34 เพื่อเปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการทั่วไปได้เข้าแข่งขันเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพ โดยมีภาคเอกชน ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคราชการและโรงพยาบาล ร่วมยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการตามหลักการของคิวซีจำนวนมาก ครอบคลุม 121 กลุ่ม ประกอบด้วย ภาคอุตสาหกรรม 52 กลุ่ม ภาครัฐวิสาหกิจ 8 กลุ่ม ภาคราชการและโรงพยาบาล 55 กลุ่ม และกลุ่มข้ามสายงาน 6 กลุ่ม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในแต่ละปีผลงานขององค์กรต่าง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มคิวซี สามารถลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าในภาพรวมได้กว่า 1,000 ล้านบาท อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ 3,470 ล้านบาท บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ 1,510 ล้านบาท บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ 562 ล้านบาท เป็นต้น
สำหรับการดำเนินงานคุณภาพ หรือ คิวซี ภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพนั้น นอกจากการควบคุมมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอแล้ว จำเป็นต้องสร้างคุณภาพที่ควบคู่ไปกับความยืดหยุ่น เพื่อการเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดอยู่เสมอ จึงต้องเร่งให้เกิดการปรับตัว ซึ่ง กสอ. พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการในการรักษามาตรฐานของภาคการผลิต และผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งพร้อมเป็นที่ปรึกษาสำหรับการปรับตัวให้สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง