3 พันธมิตร ต้นแบบ Zero Plastic Waste
ไออาร์พีซี ผนึก วช – ม.เกษตร ประกาศความร่วมมือเป็นต้นแบบสร้างระบบรับรอง Zero Plastic Waste ตั้งเป้าขยายความร่วมมือไปสู่ผู้ผลิตรายอื่นในกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกตลอด Supply Chain
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. เป็นหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยหลักของประเทศ และส่งเสริมการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนบนฐานงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ และปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาได้สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาที่สนับสนุนครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จากการที่ วช. มีความเห็นว่าการใช้หลักการ Sharing as Beneficial Principle จะเป็นมาตรการที่สำคัญ ในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยสนับสนุนให้ม.เกษตรศาสตร์ พัฒนาระบบการรับรอง Zero Plastic Waste สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกขึ้น เพื่อให้การรับรองอุตสาหกรรมที่ลดการเกิดขยะพลาสติกได้อย่างเบ็ดเสร็จ หรือขยะพลาสติก เป็นศูนย์ โดย ไออาร์พีซี เป็นบริษัทแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองดังกล่าวในกระบวนการผลิต หรือ Zero Plastic Waste in Production Process โดยระบบการรับรอง Zero Plastic Waste ที่สร้างขึ้นนี้จะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศ และเป็นแม่แบบให้แก่ 10 ประเทศในกลุ่ม ASEAN ในอนาคต
ด้านนายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ ไออาร์พีซี กล่าวว่า เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาที่เกิดจากขยะพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญของอุตสาหกรรมพลาสติก ขณะที่ ไออาร์พีซี ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมันบนพื้นฐานของความยั่งยืน จึงร่วมกับ วช. และม.เกษตรศาสตร์ ประกาศความร่วมมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติกจากแหล่งกำเนิด โดยไม่ปล่อยให้มี Waste Polymer หรือ ของเสียออกจากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก ตามโมเดล ECO Solution ของบริษัทฯ ด้วยการบริหารจัดการทั้งห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติก (Closed Loop) ซึ่งหมายถึง กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี มีประสิทธิภาพ ไม่ทำให้ขยะพลาสติกที่เกิดจากกระบวนการผลิตออกนอกระบบไปเป็นภาระแก่ชุมชนและสังคม
นอกจากนี้ ไออาร์พีซี ยังได้นำ Big Data สร้างเป็นฐานข้อมูล Plastic Waste Platform เพื่อรวบรวมขยะพลาสติกจากแหล่งผลิตแต่ละโรงงานทั้งของ ไออาร์พีซี และลูกค้า ทำให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น และการบริหารจัดการขยะพลาสติกมีประสิทธิภาพสูง ประหยัดงบประมาณ และยังใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าอีกด้วย
การประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่น และไว้วางใจจากลูกค้าผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมพลาสติกระดับประเทศ 15 ราย ได้แก่ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ผู้ผลิตและออกแบบอุปกรณ์เครื่องใช้และของ แต่งบ้านที่กวาดรางวัลมาแล้วทั้งในและต่างประเทศ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ลดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ให้กับร้านอาหารทั่วประเทศ ผู้ผลิตกระดาษเปียกหรือผ้า Spunbond และผลิตถุงกระสอบส่งออก ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และบริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติกคอมปาวด์ ที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ ไออาร์พีซี วช. และม.เกษตรศาสตร์ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และพร้อมนำประเทศสู่สังคม Zero Plastic Waste ต่อไป
สำหรับความร่วมมือกับทุกภาคส่วนครั้งนี้ จะนำไปสู่การขับเคลื่อน 3Rs (Reuse, Reduce, Recycle) ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก Recycle ที่ได้รับการรับรองคุณภาพอีกด้วย