ทกท. ปรับปรุงพื้นถนนในพื้นที่ ทกท.
ทกท. ปรับปรุงพื้นถนนในพื้นที่ ทกท. สร้างความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ดำเนินการปรับปรุงพื้นถนนในพื้นที่ ทกท. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการให้เกิดความคล่องตัวในการขนส่งสินค้า ลดความแออัดของการจราจรที่ติดขัดในเส้นทางขาออก สร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน อีกทั้งลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และลดการเกิดฝุ่นละอองภายในท่าเรือ
สำหรับพื้นที่ที่ดำเนินการปรับปรุง คือ ถนนสาย 2 และสาย 4 สำหรับพื้นที่ถนนสาย 2 เป็นการปรับปรุงถนน 1 เลนจาก 2 เลน ระยะทาง 593 เมตร ต่อจากพื้นถนนเดิมที่ปรับปรุงในปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ระยะทาง 530 เมตร เป็นเลนขาออก ไปเรียบร้อยแล้ว (ปรับปรุงจากแยกอาคารกองกฎหมายเดิม ถึง คลังสินค้ารถยนต์) และในปี 2562 นี้เป็นการปรับปรุงถนนเลนขาออก ต่อเนื่องจากของเดิม โดยปรับปรุงจากคลังสินค้ารถยนต์ ถึงทางแยกโรงพักสินค้า 3 (แผนกปั้นจั่น) เนื่องจากเส้นทางถนนสาย 2 ดังกล่าว เป็นเส้นทางสัญจรหลักของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถบรรทุกขาออกที่ต้องวิ่งผ่านออกตลอดเวลา โดยจะขุดลอกเอาพื้นลาดยางแอสฟัลท์ (Asphalt) หรือยางมะตอยเดิมออกก่อน และทำเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก เพิ่มความแข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้นานกว่า รับน้ำหนักรถบรรทุกได้เป็นอย่างดี และถนนสาย 4 เป็นการปรับปรุงถนนทั้ง 2 เลน ระยะทาง 185 เมตร เป็นการซ่อมพื้นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเดิมที่พื้นผิวถนนคอนกรีตชำรุดแตกร้าวจากการ ใช้งานมาเป็นเวลานาน คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มความสะดวก คล่องตัว ลดการติดขัดสะสมของรถบรรทุกสินค้า เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และช่วยลดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี ซึ่งการปรับปรุงจะดำเนินการตามความจำเป็นและความเหมาะสม โดยจะเลือกปรับปรุงถนนที่ชำรุดและต้องการการซ่อมบำรุงอย่างเร่งด่วนก่อน จึงขอให้พนักงานและผู้ใช้บริการใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่หรือป้ายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อลดอุบัติเหตุ
ทั้งนี้ ในอนาคต ทกท. มีแผนการปรับปรุงพื้นที่ลานจอดรถบรรทุก 11 ไร่ (พื้นที่บริเวณด้านหลังอาคารฝ่ายการช่าง) จากการลาดยางแอสฟัลท์เป็นลานคอนกรีตเสริมเหล็ก รวมทั้งการปรับปรุงถนนภายใน ทกท. เพื่อให้เกิดความแข็งแรง ทนทาน และสามารถรับน้ำหนักของรถบรรทุกได้เพิ่มขึ้น ลดการเกิดฝุ่นละออง อีกทั้งช่วยให้การจราจรมีความคล่องตัวมากขึ้น.