กรมอุทยานฯ ดึงวิชาการผุดธรรมชาติสมบูรณ์
อธิบดีอุทยานฯ ย้ำ ดึงนักวิชาการร่วมศึกษาก่อนสั่ง “ปิด-เปิดอุทยานฯ” ชี้เหตุปิดซ่อมแซมเพราะเสื่อมโทรมหนัก ระบุหลังเปิดอ่าวมาหยา พบ “ฉลามหูดำและสัตว์ทะเลหายาก” ว่ายน้ำโชว์นักเที่ยว ลั่นจากนี้ จะเห็นอุทยานฯของไทยสมบูรณ์มากขึ้นจากพันธกิจเชิงรุก เผยพร้อมร่วมชมรมคอลัมนิสต์ฯปลูกป่าปีที่ 3
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมรองอธิบดีฯ ทั้ง 3 คน และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ร่วมกิจกรรมสันทนาการและเลี้ยงสังสรรค์กับกลุ่ม “นักข่าวและนักเขียนอาวุโส” จากสื่อแขนงต่างๆ กว่า 50 คน ในนาม ชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย ภายใต้การนำของ นายณรงค์ ปานนอก ประธานชมรมฯ ณ ภัตตาคารเอี่ยวไถ่ ถ.นวมินทร์ เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า แม้รองอธิบดีฯ ทั้ง 3 คน และ ผอ.สำนักต่างๆ จะเป็นเพื่อน “วนศาสตร์ รุ่นที่ 47” แต่ตนจะดูและวัดผลงานที่ออกมาว่าเป็นอย่างไร หากไม่มีผลงานก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม จึงถือเป็นความท้าทายของตนและเพื่อนร่วมรุ่นฯ ว่าจะสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับได้อย่างไร? ทำอย่างไร? กรมอุทยานฯ จึงจะเดินไปได้ในทิศทางที่ควรจะเป็นได้
นายธัญญา กล่าวว่า ครั้งหนึ่งตนเคยได้นำเรียนไปยัง อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา) ว่า ก่อนหน้านี้ ตนไม่กล้าบอกกับสังคมว่า ได้ทำงานหรือมาจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ แต่ทุกวันนี้ ตนกล้าพูดได้เต็มปากว่า
“ผมมาจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” โดยครั้งสุดท้าย ที่ตนไปร่วมพิธีศพของ “จ่าแซม” จ.อ.สมาน กุนัน (ก่อนได้รับการปรับยศเป็น “ร.ท.”) วีรบุรุษถ้ำหลวง ที่วัดหนองคู ต.เมืองหงส์ อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด พบว่ามีชาวบ้านบางกลุ่มมาขอถ่ายรูปด้วย ทั้งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน โดยชาวบ้านกลุ่มนั้น บอกว่ามาจาก จ.กาฬสินธุ์ เคยเห็นตนจากภาพข่าวโทรทัศน์ และได้ติดตามผลงานมาโดยตลอด เมื่อเจอตัวจริงจึงชวนกันมาขอถ่ายรูปเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ทั้งนี้ ตนสามารถพูดได้เต็มปากว่า “ณ วันนี้ เราสามารถเดินได้อย่างไม่อายใคร และรัฐมนตรี (ขณะนั้น) เอง ก็ขอให้พวกเราภูมิใจในสิ่งที่ได้ทำกันมา”
ช่วงเปิดให้มีการถามตอบ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า สิ่งที่คนไทยควรจะคาดหวังจากนโยบายและการดำเนินงานของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในขณะนี้ คือ การทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ในการกำกับดูแลและอนุรักษ์พื้นที่อุทยานแห่งชาติ รวมถึงสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อให้ดำรงอยู่อย่างที่ควรจะเป็น แต่เนื่องจากอุทยานแห่งชาติมีมากกว่า 150 แห่ง ยังไม่นับรวมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่วนอุทยาต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนสื่อมวลชนและคนไทยได้เข้าไปเยี่ยมชม เพื่อจะได้ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ย้ำว่า ณ วันนี้ สิ่งที่คนไทยได้เห็นจากนี้ไป คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ก่อนหน้านี้ ตนได้สั่งปิดเกาะตาชัย (กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สั่งปิดการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน คือ บริเวณพื้นที่บนเกาะ ชายหาย และแนวประการังรอบเกาะตาชัย) ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา และอ่าวมาหยา จ.กระบี่ เมื่อกลางปี 2559
โดยหลังการสั่งปิดเป็นเวลา 3 เดือนนั้น เมื่อเปิดให้มีการเข้าไปท่องเที่ยวได้อีกครั้ง สิ่งที่เห็นตามมาคือ ธรรมชาติกลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม และมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ได้เห็นฝูงปลาฉลามหูดำกลับมาเวียนว่ายบริเวณปากอ่าว รวมถึงสัตว์นำหายากอื่นๆ ที่ก่อนหน้าที่ไม่เคยมาปรากฏให้ได้เห็น และแม้การสั่งปิดอุทยานแห่งชาติจะเป็นอำนาจโดยตรงของของอธิบดีฯ แต่ตนเลือกที่จะเชิญให้นักวิชาการมาทำการประเมินว่า ควรจะปิดหรือไม่? ปิดเมื่อใด? เป็นเวลาเท่าไหร่? และหลังจากสั่งปิดฯไปแล้วนั้น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ จะได้รับการฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่ภาวะปกติหรือไม่? รวมถึงพร้อมแล้วที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมได้หรือยัง?
“สิ่งนี้จะเป็นหลักการเพื่อให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ยึดเหนี่ยวและใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มี ไม่ใช่นึกอยากจะปิดก็ปิด นึกอยากจะเปิดก็เปิด แต่ที่ต้องปิดเพราะมันเกิดความเสื่อมโทรม และหากจะเปิดอุทยานนั้นๆ ก็จะต้องมีความพร้อม เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เข้าเยี่ยมชม และจะต้องไม่ได้รับความเสียหายตามมา ยกตัวอย่างกรณีอ่าวมาหยา กรมฯจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้ามาบริเวณด้านหลังเกาะ แต่ไม่อนุญาตให้เข้ามาทางด้านหน้าเหมือนที่แล้วมา และหากนักท่องเที่ยวต้องการจะถ่ายรูปจากบริเวณหน้าเกาะฯ จะต้องถ่ายจากเรือที่ลอยลำอยู่กลางทะเล โดยจะไม่อนุญาตให้นำเรือเข้ามาบริเวณด้านหน้าอีกแล้ว” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุ
ส่วนปัญหาขยะมูลฝอย โดยเฉพาะเศษถุงพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวนำติดตัวมาและทิ้งลงบริเวณชายหาดหรือในทะเล จนหลายครั้งที่สัตว์น้ำในทะเลต้องเสียชีวิตเพราะกินสิ่งเหล่านี้เข้าไป เบื้องต้น ได้สั่งการให้ ผอ.อุทยานต่างๆ ดูแลเป็นพิเศษ ทั้งนี้ มีบางพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง สร้างมาตรการขึ้นมาเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ เช่น รณรงค์ให้เลิกนำถุงพลาสติกเข้ามาท่องเที่ยวในบริเวณเขตอุทยาน โดยเปลี่ยนมาเป็นพาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับไปทำความสะอาดและใช้ใหม่ได้อีกครั้ง
“ขณะที่ บางพื้นที่ เช่น อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เจ้าหน้าที่จะขอเก็บเงินค่ามัดจำวัสดุที่เป็นถุงพลาสติกหรือสิ่งที่จะกลายเป็นขยะในอนาคต โดยขอเก็บเงินมัดจำตามจำนวนชิ้นที่พกพาขึ้นไป เช่น หากเก็บเงินมัดจำที่ชิ้นละ 10 บาท มีถุงพลาสติกหรืออื่นๆ จำนวน 10 ชิ้น ก็จะต้องจ่ายเงินมัดจำ 100 บาท เมื่อกลับลงมา และนำเอาเศษวัสดุหรือถุงพลาสติกเหล่านั้น มาทิ้งในจุดทิ้งขยะ ให้เจ้าหน้าที่ได้เห็น ก็จะได้รับเงินคืนกันไป เหตุที่ต้องทำเช่นนี้ ก็เพื่อกันเงินบางส่วนที่นักท่องเที่ยวไม่ได้นำวัสดุหรือถุงพลาสติกกลับมา โดยยอมให้เจ้าหน้าหักเงิน เพื่อจะนำเงินเหล่านี้ไปว่าจ้างชาวบ้านในพื้นที่ทำการจัดเก็บและกำจัดขยะต่อไป” นายธัญญา ย้ำ
ส่วนกิจกรรม “ปลูกป่าปีที่ 3” ร่วมกับชมรมคอลัมนิสต์ฯ บริเวณพื้นที่ จ.พะเยานั้น อธิบดีกรมอุทยานฯ ย้ำว่า พร้อมให้การช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพียงแต่จะต้องแจ้งความต้องการและวัตถุประสงค์ของโครงการแต่ละโครงการว่าอยากให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ เข้ามาช่วยเหลือ และ/หรือ ประสานงานในส่วนไหน? อย่างไร? ซึ่งโครงการปลูกป่าฯ ถือเป็นโครงการที่ดีและกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ดำเนินงานในลักษณะเช่นนี้อยู่แล้ว จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาในความร่วมมือกันในวันนี้และอนาคต.