ขับเคลื่อนศูนย์ EEC พัฒนาแรงงานป้อน 10 อุตสาหกรรม
ก.แรงงาน เดินหน้าขับเคลื่อนศูนย์ EEC วางแผน 3 ระยะ พัฒนาแรงงานคุณภาพป้อน 10 อุตสาหกรรม ยกระดับของประเทศ
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน จัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Labour Administration Center) ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี เพื่อให้บริการด้านข้อมูลแรงงาน ส่งเสริมการมีงานทำและคุ้มครองแรงงาน ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการตรวจลงตราและอนุญาตทำงาน เพื่อตอบรับความต้องการด้านแรงงานของสถานประกอบกิจการ 37,000 แห่ง และแรงงานกว่า 1,5,000,000 คนในพื้นที่ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2562
สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนแรก ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน มีการฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 10 อุตสาหกรรม จำนวน 5,335 คน ส่งเสริมสถานประกอบกิจการพัฒนาพนักงานของตนเอง จำนวน 535,556 คน ส่วนในด้านอื่นๆ อาทิ จัดหางานในกลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 16,164 คน ตรวจลงตราและออกใบอนุญาตทำงาน 6,262 คน ส่งเสริม E-Service และ E-Payment จำนวน 45,810 คน เป็นต้น
สำหรับผลศึกษาความต้องการแรงงานของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในช่วง 5 ปี (2562-2566) มีความต้องการแรงงาน จำนวน 475,667 อัตรา จำแนกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 7 อุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน 3 อุตสาหกรรม เพื่อวางแผนพัฒนาทักษะฝีมือให้ตรงกับความต้องการ อาทิ อุตสาหกรรมดิจิทัล มีความต้องการแรงงาน จำนวน 116,222 อัตรา อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต มีความต้องการแรงงาน จำนวน 53,739 อัตรา อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีความต้องการแรงงาน จำนวน 58,228 อัตรา
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มีความต้องการแรงงาน จำนวน 109,910 อัตรา อุตสาหกรรมการพาณิชยนาวี มีความต้องการแรงงาน จำนวน 14,630 อัตรา และอุตสาหกรรมการขนส่งระบบราง มีความต้องการแรงงาน จำนวน 24,246 อัตรา
ศูนย์ดังกล่าวมีแผนงานขับเคลื่อนใน 3 ระยะ ได้แก่ 1.แผนระยะสั้น (ปี 2562) พัฒนาแรงงานเข้าสู่ระบบการจ้างงาน ในปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการ จำนวน 1,011 แห่ง มีความต้องการแรงงาน ใน 14,767 อัตรา 2. แผนระยะกลาง 1-5 ปี สำรวจความต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการพัฒนาพนักงานของตนเองปีละกว่า 580,000 คน ให้เป็นแรงงานคุณภาพ สร้างระบบฐานข้อมูลแบบ Big Data เชื่อมโยงข้อมูลสู่ระบบบริหารจัดการในพื้นที่ สร้างเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานและหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตรวจลงตราวีซ่าและออกใบอนุญาตทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
และ 3. แผนระยะยาว 6-10 ปี เชื่อมโยงข้อมูลความต้องการแรงงาน (Demand) กำลังแรงงาน (Supply) ด้วยระบบ Digital ครบวงจร จัดวางหลักสูตรการพัฒนาทักษะตามความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อำนวยความสะดวกแก่แรงงาน นายจ้าง และนักลงทุน บน Digital Platform อย่างเต็มรูปแบบ สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ