แฟคทอรี่ 4.0 ดันไทยสู่ประเทศรายได้สูง
กรอ. เดินหน้าเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ยุคอนาคตอุตสาหกรรม 4.0 มั่นใจ 3 แนวทางการขับเคลื่อนกลไก สามารถนำประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง-ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ความไม่สมดุลของการพัฒนา
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการ “Factory 4.0 สู่อนาคตอุตสาหกรรมไทย และปาฐกถาพิเศษเรื่อง” “นโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยในยุค 4.0” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยตามแนวทางประเทศไทย 4.0 (ไทยแลนด์4.0) อย่างมาก เพื่อให้ประเทศสามารถพัฒนาไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม จนหลุดจากดับดักรายได้ปานกลาง, กับดักความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และกับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา
สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย 4.0 นั้นจะมี 3 แนวทางใหญ่ คือแนวทางแรกจะพัฒนากลไกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมการยกระดับผลิตภาพ โดยมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เช่น การผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันในการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย พร้อมทั้งเพิ่มความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกันตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 และเตรียมการวางแผนความร่วมมือด้านการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจพื้นฐาน และร่วมเป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมได้
ส่วนแนวทางที่ 2 จะเป็นกลไกขับเคลื่อนให้คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ การสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม เช่น การสร้างคลัสเตอร์เศรษฐกิจระดับ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ การส่งเสริมและสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และการสร้างแรงงานที่มีทักษะและความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ในอนาคตสำหรับการสนับสนุนเอสเอ็มอี เช่น การส่งเสริมโครงการบิ๊กบราเตอร์ หรือพี่ช่วยน้องโดยให้องค์กรเอกชนขนาดใหญ่เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่างๆ พร้อมทั้งสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน, การดำเนินงานหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ของสินค้าที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยวและบริการ โดยจะเพิ่มหมู่บ้านจาก 9 หมู่บ้านในปี 60 เป็น 76 หมู่บ้านทั่วประเทศภายใน 5 ปี
นายทองชัย กล่าวต่อว่า ขณะที่แนวทางที่ 3 ได้เร่งให้มีการส่งเสริมกลไกขับเคลื่อนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ พร้อมทั้งส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมหรือซีเอสอาร์ การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการลดของเสีย และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
“กระทรวงได้วางวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่ 4.0 เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยให้เติบโตไม่น้อยกว่า 4.5% ภายในปี 64 พร้อมทั้งได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ การเสริมสร้างศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตและเข้มแข็ง, การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม, การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสมรรถนะองค์กรเพื่อให้บริการอย่างมีคุณภาพ” นายทองชัย กล่าว
ด้าน นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “SMART DIW” ว่าแนวทางการปรับเปลี่ยนการทำงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ กรอ.เพื่อให้สอดรับกับพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 นั้น กรอ.จะส่งเสริมให้โรงงานมุ่งสู่ Factory 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยุคดิจิตอล และเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบกิจการโรงงานในด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มผลผลิตโดยให้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดของเสียและมลพิษต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่เกิดขึ้นและเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้โรงงานเป็น Smart Factory พร้อมกันนี้ก็จะยกระดับเอสเอ็มอีผ่านกลไกศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และด้านสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
ด้าน นายปณตสรรค์ สูจยานนท์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดสัมมนาวิชาการ “Factory 4.0 สู่อนาคตอุตสาหกรรมไทย” ถือเป็นการจัดงานภายใต้งาน ASEAN Sustainable Energy Week 2019 (ASE) ซึ่งกรมฯ เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนการจัดงานร่วมกับ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง และปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 โดยมีหัวข้อสัมมนาทั้งหมด 26 หัวข้อ และมีผู้เข้าร่วมการสัมมนากว่า 2,300 คน เป้าหมายเพื่อส่งเสริมพัฒนาและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในด้าน SMART DIW กฎหมาย เทคโนโลยี ความปลอดภัยโรงงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น.