สวทช. ร่วมกับภาคเอกชน หนุนสร้างฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ เดินหน้านวัตกรรมด้านอาหาร
สวทช. ร่วมกับภาคเอกชน หนุนสร้างฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ เดินหน้านวัตกรรมด้านอาหาร
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) และบริษัท ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ จำกัด ลงนามความร่วมมือใน “โครงการสร้างและพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นใหม่ด้านนวัตกรรมอาหาร (FoodTech Startup)” ในงาน THAIFEX 2019 ที่ผ่านมา ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อร่วมกันผลักดันและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นใหม่ (Startup) ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารให้ประสบผลสำเร็จ ตั้งเป้าสร้าง FoodTech Start up ให้ได้จำนวน 100 ราย ในปี 2563 เพื่อเป็นกำลังสำคัญนำพาประเทศไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมได้อย่างแท้จริง
ดร.เอกอนงค์ จางบัว ที่ปรึกษาอาวุโส เมืองนวัตกรรมอาหาร สวทช. เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช). โดยเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) มีนโยบายหลักในการสร้าง พัฒนา และยกระดับวิสาหกิจเริ่มต้นใหม่ด้านนวัตกรรมอาหาร (FoodTech Startup) และผู้ประกอบการอาหารที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Food Innovation Driven Entrepreneur) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและนำพาประเทศไปสู่การสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยการทำงานผ่านแพลทฟอร์ม FI Accelerator ในการเร่งรัดพัฒนาผู้ประกอบการด้านอาหาร โดยร่วมมือกับบริษัท ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ จำกัด ที่เป็นบริษัทชั้นนำของประเทศไทย ในการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งได้ทำการบ่มเพาะและผลักดันสตาร์ทอัพไปแล้วกว่า 1,500 ราย ตั้งแต่ปี 2555 และกำลังสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมในประเทศไทยให้แข็งแรงยิ่งขึ้น โดยโครงการฯ ตั้งเป้าหมายที่จะสร้าง FoodTech Start up จำนวน 100 ราย ภายในปี 2563
ด้าน นายกระทิง เรื่องโรจน์ พูนผล Managing Partner ของ 500 TukTuks และผู้ก่อตั้งบริษัท ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือในการสร้างและพัฒนา FoodTech Startup ร่วมกับเมืองนวัตกรรมอาหาร สวทช. ครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอาหารที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจของไทย และร่วมกันสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมด้านอาหารให้เกิดขึ้นอย่างแข็งแรงในประเทศ ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการนำพาประเทศไทยออกจากกับดักกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy)