ส.อ.ท. จัดงาน Exponential Manufacturing Thailand
ส.อ.ท. จัดงาน Exponential Manufacturing Thailand 2019 ยกทีมนวัตกรระดับโลกจาก SingularityU รับมือ Disruptive Technology กระทบอุตสาหกรรมไทย
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้ามา disruptive อยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลให้บทบาทของภาคอุตสาหกรรมและการประกอบการของภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวกันอย่างหนัก เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องรู้เท่าทันนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า จึงได้จัดงาน “Exponential Manufacturing Thailand 2019” การประชุมสุดยอดสู่การพลิกโฉมธุรกิจภาคอุตสาหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย และเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยได้รับความร่วมมือจาก Singularity University (SU) ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญและผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีระดับโลกจาก Silicon Valley ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ฝ่ากับดักการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม โดยงาน “Exponential Manufacturing Thailand 2019” ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะสามารถนำพาภาคอุตสาหกรรมให้มีการพัฒนาและเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมทั้งจะสามารถช่วยผลักดันให้ภาพรวมอุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีกำหนดการแถลงข่าวก่อนจัดงาน 1 วัน (Pre-Summit) ในวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2562 นี้ ณ ICONLUXE HALL ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เวลา 13.30-15.30 น. พร้อมกับวิทยากรชั้นนำของโลก และพิเศษสุดกับการบินโชว์ของ “ไอรอนแมนในชีวิตจริง” (Rocket Man) ริชาร์ด บราวนิ่ง ผู้ก่อตั้ง Gravity Industries
สำหรับไฮไลต์ของการประชุมสุดยอดในวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมอินเตอร์คอน-ติเนนตัล กรุงเทพฯ ครั้งนี้ ได้รวบรวมเหล่าวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกในด้านต่าง ๆ จาก Singularity University (SU) กว่า 22 ท่าน ที่เป็นผู้มองเห็นเทรนด์ของโลกอนาคต ที่จะมาเสนอมุมมองและวิธีคิดที่เรียกว่าเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ซึ่งไปไวมากเกินกว่าที่เราจะคาดถึง ให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น พร้อมโชว์ผลงานอันน่าทึ่ง อาทิ
-HYPERLOOP การเดินทางด้วย Pod (ห้องโดยสาร) ในอุโมงค์สุญญากาศที่มีความเร็วสูงถึง 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเทียบกับเครื่องบินที่ 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดย Andres De Leon กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ HYPERLOOP Transportation Technologies
– 3D-PRINTING FOR CONSTRUCTION INDUSTRY สิ่งก่อสร้างจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ผลงานสร้างชื่อคือการสร้างสะพานเหล็กพิมพ์ 3 มิติแห่งแรกของโลกในอัมสเตอร์ดัม โดย ทิม เกอร์เทนส์
-เจสัน ดันน์ ผู้บุกเบิก Made In Space หรือการผลิตนอกโลก สามารถสร้างทุกอย่างได้ทุกที่บนโลก หรือแม้กระทั่งสร้างสิ่งก่อสร้างหรือของใช้จำเป็นฉุกเฉินนอกโลก โดยไม่จำเป็นต้องขนสิ่งต่าง ๆ ไปนอกโลกอีกต่อไป
– เทคโนโลยี Exoskeleton วิศวกรรมและเทคโนโลยีล่าสุดที่ช่วยให้คนเปลี่ยนความคิดเรื่องขีดจำกัดด้านกายภาพ ที่รัสส์ แอนโกลด์ ได้ทำสำเร็จมาแล้ว
-นาโนเทคโนโลยีที่จะช่วยเปลี่ยนโฉมวงการแพทย์ ซึ่งพัฒนาโดย ดร. อันยา บอยเซ่น
อย่างไรก็ตาม การจัดงาน Exponential Manufacturing Thailand 2019 นี้ คุ้มค่าและอัดแน่นด้วยเนื้อหา 2 วันเต็ม แล้วท่านจะตะลึงอย่างคาดไม่ถึงว่ามนุษย์จะทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้