ยกระดับ ระยอง สู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ 3
สมาคมเพื่อนชุมชน โชว์ผลงาน 8 ปี พร้อมชูนโยบายปี 62 เดินหน้าเสริมแกร่ง “ยกระดับ” ระยองสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ 3
นายวริทธิ์ นามวงษ์ อุปนายกสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยว่า ในปี 2562 สมาคมเพื่อนชุมชนมีแผนขับเคลื่อนและขยายผลจังหวัดระยองให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับที่ 3 (Resources Efficiency Level) หรือ การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ด้วยกลยุทธ์ SHE-WE Model หรือ ชีวี-มีสุข ซึ่งได้แก่ Social คือ สังคมมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ Health คือ คนในสังคมมีสุขภาพดี Environment คือ บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ Welfare คือ มุ่งให้คนในสังคมกินดีอยู่ดี และ Education คือ สร้างโอกาสทางการศึกษาเพื่อกลับมาพัฒนาบ้านเกิด
และตั้งเป้า 76 โรงงานในมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ เป็น Eco Factory ครบ 100% ในปีนี้ โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโตไปพร้อม ๆ กับเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมอย่างมีความสุข เพื่อพัฒนาสู่ “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” ในอนาคต
ทั้งนี้ในระยะเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมา สมาคมเพื่อนชุมชน ได้จัดโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ กว่า 20 โครงการ ตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ผ่านตัวชี้วัด 5 มิติ ได้แก่ มิติด้านกายภาพ มิติด้านสังคม มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อม และมิติด้านการบริหารจัดการที่ดี ตามแนวทางของภาครัฐ โดยสมาคมเพื่อนชุมชนจะเป็นตัวกลางในการประสานและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการ และชุมชน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในมาบตาพุดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยความจริงใจ จริงจัง มุ่งมั่น และพร้อมแก้ปัญหาร่วมกัน ด้วยการถ่ายทอดความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ และมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยโครงการต่างๆดังกล่าว ประกอบด้วย โครงการด้านการศึกษา โครงการด้านสุขภาพ การยกระดับทางเศรษฐกิจ และ การสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
โครงการด้านการศึกษา มีโครงการเพื่อนชุมชนติวเตอร์ (CPA Tutor) โครงการมอบทุนปริญญาตรีต่อเนื่องเพื่อนชุมชน ปัจจุบันมีการมอบทุนการศึกษาแล้วทั้งหมด 213 ทุน รวมตลอด 8 ปี มอบทุนการศึกษาไปแล้วกว่า 50 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการเพื่อนชุมชนคนอาชีวะ (V-Camp) และโครงการพยาบาลทุนเพื่อนชุมชน ซึ่งโครงการด้านการศึกษาเหล่านี้ สมาคมฯมีแนวคิดว่า หากเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ มีการศึกษาที่ดีก็จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป ซึ่งเยาวชนที่ได้รับโอกาสจากโครงการนี้จะรับรู้ถึงคุณค่าและมีจิตสำนึกรักบ้านเกิด และจะนำความรู้ที่ได้รับกลับมาตอบแทนให้กับจังหวัดระยองบ้านเกิดของพวกเขา
โครงการด้านสุขภาพ มีโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โครงการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ โครงการพยาบาลทุนเพื่อนชุมชนจำนวน 440 ทุน โดยนักเรียนทุนพยาบาลจะเข้าประจำการในโรงพยาบาลต่างๆในจังหวัดระยอง ครบตามจำนวนทุนในปี 2564 โครงการยกระดับศักยภาพบุคลากร อสม. และการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์พื้นฐาน ให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพให้แก่ชุมชนในพื้นที่
การยกระดับทางเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของสมาคมเพื่อนชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้คนในพื้นที่สามารถสร้างอาชีพและสามารถพึ่งตนเองได้ และยกระดับเป็นจังหวัดตัวอย่างที่มีวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งในอนาคต ซึ่งถือได้ว่าวิสาหกิจชุมชนเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของประเทศ และเป็น 1 ใน 12 นโยบาย “ประชารัฐ” ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าให้คนในพื้นที่ และแก้ไขปัญหาธุรกิจให้กับชุมชน ที่สำคัญยังได้สร้างแบรนด์เป็นของตนเอง ภายใต้โครงการ “เพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล” ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งหมด 3 รุ่น จำนวนวิสาหกิจชุมชน 21 กลุ่ม และปีนี้เป็นรุ่นที่ 4 อยู่ในระหว่างการพัฒนา จำนวนวิสาหกิจชุมชน 8 กลุ่ม
การสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม สมาคมฯได้ส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิก โดยสมาคมฯมีนโยบายให้สมาชิกของสมาคมเพื่อนชุมชนจะต้องเข้าร่วมโครงการประเมินโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) โดยในปี 2562 สมาชิกสมาคมฯจะผ่านการรับรองครบ 100% โดยมีจำนวนโรงงานที่ผ่านการรับรองจำนวน 76 ทะเบียนโรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขกลุ่มโรงงานที่ผ่านการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสูงที่สุดในประเทศไทย ในส่วนภาคประชาสังคมสมาคมฯได้ส่งเสริมการประเมินตามกรอบกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพนากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการ วัดเชิงนิเวศ (Eco Temple) และโรงเรียนเชิงนิเวศ (Eco School) โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการคือ โรงเรียนวัดกรอกยายชา ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบ เพื่อพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) และเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน (Green City)