ชูแนวคิด ขับเคลื่อนสู่มาตรฐาน-นวัตกรรม
สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชูแนวคิด “ขับเคลื่อนสู่มาตรฐานและนวัตกรรม” หนุนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสู่ Smart Electronics สร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดอุตสาหกรรม
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษในงาน 20 ปี สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง “อุตสาหกรรมไทยกับการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคตและนวัตกรรม (Thai Industry : Industry Transformation and Innovation)” ว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สำคัญ ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตมานานกว่า 40 ปี และเป็นห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก จากการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปโดยเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น อุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ จึงต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่ Smart Electronics ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงไปกับแทบทุกอุตสาหกรรมในอนาคต โดยจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ อาทิ Smart Farming, Smart Health, Smart Factory, Smart Vehicle เป็นต้น
และเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูง กระทรวงฯจึงได้บูรณาการ ความร่วมมือจากหลายหน่วยงานจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Industry Transformation Center : ITC ) มีการแบ่งปันเครื่องจักรอุปกรณ์จากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐมาให้บริการแก่ผู้ประกอบการเพื่อเป็นการลดต้นทุนการประกอบกิจการ เป็นศูนย์กลางที่ดึงความหลากหลายของหน่วยงานที่มีความชำนาญด้านการออกแบบและวิศวกรรมจากผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก จากสถาบันเครือข่ายผู้ประกอบการ จากสมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ มาให้บริการแก่ภาคเอกชน ซึ่งมีสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นหน่วยร่วมที่สำคัญ และได้ดำเนินการจัดตั้งห้องปฏิบัติการด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Design Lab – EDL) เพื่อช่วยส่งเสริม พัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ครบวงจร ซึ่งถือเป็นหน่วยงานเครือข่ายของศูนย์ ITC ด้วย
นายสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า
แนวโน้มปี 2562 ประมาณการว่าภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.97 โดยในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38 และอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.56 ส่วนการส่งออก ในภาพรวมคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.26 หรือมีมูลค่าราว 64,133.26 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าไฟฟ้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.97 และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.55 เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดส่งออกหลักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน
ปัจจุบันอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีสถานประกอบการรวมทั้งสิ้น 2,419 ราย แบ่งเป็นขนาดเล็ก 1,503 ราย ขนาดกลาง 530 ราย และขนาดใหญ่ 386 ราย โดยสถานประกอบการขนาดเล็กส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของผู้ประกอบการสัญชาติไทย มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมรวมจำนวน 753,357 ราย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนั้นสถาบันยังได้การจัดสร้างอาคารห้องปฏิบัติการทดสอบ 5 ขึ้น เพื่อรองรับการขยายขอบข่ายการให้บริการด้านการมาตรฐาน การทดสอบ และการรับรองผลิตภัณฑ์ของสถาบันฯในอนาคตได้อีกอย่างน้อย 3 – 5 ปี อาทิ การทดสอบอุปกรณ์ EV Charger การทดสอบเครื่องปรับอากาศระบบ Multi-Split รวมทั้งรองรับงานมาตรฐานอื่นๆ และ Smart Electronics เป็นต้น