กองทัพเรือ ชี้แจง นักลงทุน ลงพื้นที่อู่ตะเภา
กองทหารเรือ ชี้แจง ขอบเขตของการลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยแบ่งเป็นการออกแบบและก่อสร้าง ให้กับนักลงทุน และเตรียมลงพื้นที่จริง ในวันที่ 1 ธันวาคม 2561
พลเรือเอก โสภณ วัฒนมงคล รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานการประชุมชี้แจงแบบและลงพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 โดยมีมีนักลงทุนที่สนใจซื้อซองข้อเสนอ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ผู้แทนกระทรวงคมนาคม และสื่อมวลชนร่วมงาน กว่า 150 คน และภายหลังการประชุมชี้แจงแบบแล้ว จะพานักลงทุนที่สนใจและสื่อมวลชน ลงพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้เห็นพื้นที่จริง ในวันที่ 1 ธันวาคม 2561 เพื่อสร้างความเข้าใจและช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพการลงทุนที่ชัดเจนขึ้น
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้มีประกาศจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเรื่อง กำหนดให้พื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง เป็น “เขตส่งเสริม: เมืองการบินภาคตะวันออก” (พื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินฯ) เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
สำหรับขอบเขตของการลงทุนในโครงการฯ โดยแบ่งเป็นการออกแบบและก่อสร้าง ตลอดจนการให้บริการและการซ่อมบำรุงรักษา ทางวิ่ง (Runway) ทางขับ (Taxiway) และระบบที่เกี่ยวข้องในสนามบินอู่ตะเภาสำหรับการขึ้นลงและเคลื่อนตัวของอากาศยาน อาคารหอบังคับการบินแห่งที่ 2 (Air Traffic Control Tower) อาคารปฏิบัติการ อาคารสนับสนุน และระบบและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในสนามบินอู่ตะเภา สำหรับการควบคุมการจราจรทางอากาศ และงานหลักที่สนับสนุนการพัฒนาโครงการฯ เช่น อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Centre: GTC) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการจราจรสำหรับการให้บริการขนส่งสาธารณะไปสู่สนามบิน ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) เป็นต้น พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่องในสนามบินอู่ตะเภา (Cargo Village or Free Trade Zone: FTZ)
ศูนย์ธุรกิจการค้าเพื่อพัฒนาพื้นที่ในสนามบินอู่ตะเภา (Commercial Gateway) ระบบสาธารณูปโภคกลาง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานของกรมศุลกากร สำนักงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและอื่นๆ และงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่การบริการด้านการบิน (Non-aeronautical Services) และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยมีระยะเวลาการร่วมลงทุน 50 ปี นับจากวันที่กำหนดให้เอกชนเริ่มการดำเนินโครงการฯ