นำร่องลดขยะพลาสติกเขตคลองเตย
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึก ข้อตกลงความร่วมมือ โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม
เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืนพื้นที่นำร่องเขตคลองเตย ระยะที่ 1 เพื่อสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการจัดการขยะและคัดแยกขยะที่ดี รวมถึงการขยายกิจกรรมโครงการไปในพื้นที่ของผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาชิกองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันในการลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัญหาขยะ นับเป็นปัญหาสำคัญของเมืองใหญ่ โดยรัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษที่ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 จาก 192ประเทศทั่วโลกที่มีปัญหาขยะในทะเล ซึ่ง 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลของประเทศไทย มีขยะประมาณ 11.47 ล้านตันแบ่งเป็นขยะพลาสติก 340,000 ตัน มีการกำจัดอย่างถูกต้อง 6.89 ล้านตัน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 3.02 ล้านตันโดยขยะที่กำจัดไม่ถูกต้อง 1.55 ล้านตันนั้น มีโอกาสปนเปื้อนลงสู่ทะเลได้ ตลอดจนส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางทะเลโดยรวมและสัตว์กรุงเทพมหานคร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาชิกองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ดำเนินการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม รวม 13 องค์กร เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวันจากข้อตกลงดังกล่าว กรุงเทพมหานครโดยสำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และภาคีเครือข่าย กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนกิจกรรมและขยายผลการประกาศเจตนารมณ์ ตามโครงการความร่วมมือภาครัฐภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน โดยคัดเลือกเขตคลองเตยเป็นเขตนำร่องในการดำเนินการ เนื่องจากมีความพร้อมในการบริหารจัดการ สามารถลดปริมาณขยะได้เป็นอันดับ 1 ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการในระยะแรก จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม การยาสูบแห่งประเทศไทย โรงแรมแมริออท สุขุมวิท 24 โรงแรม โอ๊ควู้ด เรสซิเดนซ์ สุขุมวิท 24 และอาคารไวท์ กรุ๊ป
สำหรับการลงนามความร่วมมือเพื่อจัดการปัญหาขยะและพลาสติกอย่างยั่งยืนในวันนี้ ถือเป็นการเดินหน้าในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับภาคเอกชน เพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ร่วมกันพัฒนาระบบจัดการขยะและคัดแยกขยะที่ดี โดยส่งเสริมลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิด ตามหลัก 3Rs เน้นการลดการใช้พลาสติกชนิดครั้งเดียวทิ้ง (Single use plastic) และการคัดแยกขยะใช้ประโยชน์ การผนึกความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนากรุงเทพมหานคร ให้เป็นมหานครสีเขียวที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความสะอาด สวยงาม น่าอยู่ อย่างยั่งยืนต่อไป
นายภราดร จุลชาต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของโครงการ หลังจากที่ภาคีเครือข่ายทุกองค์กรได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์เมื่อวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายนที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้คณะทำงานโครงการฯ เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเร่งรัดป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกแบบบูรณาการ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งโครงการฯ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานทั้งหมด 6 คณะ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า การมีพันธมิตรที่มีเจตนารมณ์แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นจะก่อให้เกิดเครือข่ายการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาขยะและการใช้พลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาส่งเสริมธุรกิจของท่าน ชุมชน พร้อมทั้งรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่อไป”
นายณรงค์ บุณยสงวน ผู้อำนวยการบริหารองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ได้เห็นภาคเอกชนในเขตคลองเตยไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน อาคารชุด ห้างสรรพสินค้าและ โรงแรมตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการพลาสติกและขยะอย่างถูกวิธี และได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง ซึ่งอาคารเหล่านี้มีศักยภาพพร้อมที่จะเป็นตัวอย่างในการสร้างรูปแบบการจัดการพลาสติกและขยะในอาคารสูงภายใต้แนวคิด 3R และเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งการจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ผลิต ห้างร้าน ผู้บริโภค ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในฐานะผู้บริโภคคือการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อช่วยให้ขยะแต่ละชนิดนั้นสามารถนำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ลดพื้นที่ฝังกลบและการลดการเล็ดลอดออกสู่ทะเล และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมที่มีทิศทางชัดเจนดังเช่นวันนี้ในอีกหลายๆพื้นที่”