CIT ติดอาวุธให้ InsurTech Startup
Center of InsurTech, Thailand (CIT) ในสังกัด คปภ. ประเดิมกิจกรรมแรก จับมือสมาคมฟินเทคประเทศไทย ติดอาวุธให้ InsurTech Startup ในงานสัมมนา หัวข้อ “Insurance Regulatory Sandbox – โอกาสของธุรกิจประกันภัย
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดงานและเป็นปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Center of InsurTech : Center of Co-Creation” ในงานสัมมนา ภายใต้หัวข้อ“Insurance Regulatory Sandbox – โอกาสของธุรกิจประกันภัย” สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ กลุ่ม Startup และประชาชนทั่วไป เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ณ ชั้น 13 Knowledge Exchange (KX) Building
นับเป็นการประเดิมกิจกรรมแรกของ Center of InsurTech, Thailand (CIT) ที่จับมือร่วมกับ สมาคมฟินเทคประเทศไทย จัดงานสัมมนา “Insurance Regulatory Sandbox – โอกาสของธุรกิจประกันภัย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนรูปแบบการเข้าถึงการประกันภัยของประชาชนและการใช้ความรู้แก่ประชาชนด้านประกันภัยผ่านเทคโนโลยีประกันภัย และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจประกันภัยและกลุ่มเทคโนโลยีประกันภัย (InsurTech Startup) นอกจากนี้วิทยากรยังประกอบด้วย ดร.อายุศรี คำบรรลือ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และนายสมเกียรติ วัฒนาประสบสุข ผู้อำนวยการกลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จากสำนักงาน คปภ. นายเจตน์เมริน เจตน์ระวีโชติ Senoir Vice Persident Digital Marketing Design & Activation จาก Allianz Ayudhya Assurance PCL และนายธนศักดิ์ ฮุ่นตระกูล Co-Founder and Country Managerจากบริษัท แฟร์ดี อินชัวเทค จำกัด ให้เกียรติมาแสดงมุมมองและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงานสัมมนาครั้งนี้
เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนหนึ่งว่า ธุรกิจประกันภัยเป็นอุตสาหกรรมระดับต้นๆที่ได้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Technology Disruption) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการกำกับดูแลพฤติกรรมผู้บริโภค และมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในธุรกิจมากกว่าภาคธุรกิจด้านอื่นๆ โดยที่การเติบโตของ Startup ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมาจากความร่วมมือจากหลายองค์กรที่สร้าง Corporate Venture Capital (CVC) หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่มาร่วมลงทุนกับบริษัทต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี
ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดตั้ง Center of InsurTech, Thailand (CIT) ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีเทคโนโลยีด้านการประกันภัย (InsurTech) และเทคโนโลยีประกันภัยในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (Regulatory Technology (RegTech) ให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งการจะสร้างเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น RegTech, SupTech หรือ InsurTech นั้นต้องอาศัยการร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์การดำเนินการในระยะแรก
โดยที่ CIT จะมุ่งเน้นการสร้าง Tech Ecosystem เพื่อให้เกิดการบูรณาการในทุกภาคส่วน เช่น กลุ่มธุรกิจประกันภัยธนาคาร มหาวิทยาลัย โครงการพัฒนา Startup กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีรายใหญ่ Tech Startups ภาครัฐ และหน่วยงานกำกับ ร่วมกันผนึกกำลังที่เข้มแข็งเพื่อให้ CIT เป็น Center of Co-Creation ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและผู้เอาประกันภัยต่อไป
ด้านดร.อายุศรี คำบรรลือ ได้กล่าวถึงการส่งเสริมเทคโนโลยี โดยสำนักงาน คปภ. ได้ออกประกาศ สำนักงาน คปภ. ว่าด้วยแนวทางการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย(Insurance Regulatory Sandbox) ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัย นายหน้าประกันภัย และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (FinTech Firm) หรือผู้ประกอบธุรกิจที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยี (Technology Firm) เข้าร่วมโครงการโดยการให้บริการแก่ผู้บริโภคจริงภายในสภาพแวดล้อมและการให้บริการที่จำกัด ภายใต้กรอบหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่พิจารณากำหนดหรือแก้ไขปรับปรุงให้ยืดหยุ่นตามความจำเป็น
สำหรับ FinTech Firm และ Technology Firm จะต้องเป็นการดำเนินการร่วมกับบริษัทประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัย ในโครงการ Sandbox นี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสามารถทดสอบธุรกรรม ผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่กระบวนการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย กระบวนการเรียกร้อง หรือ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน Smart Contractหรือ ธุรกรรมอื่นที่ สำนักงาน คปภ. เห็นชอบ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถยื่นขอสมัครเข้าโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน2560 โดยมีระยะเวลาทดสอบไม่เกิน 1 ปี แต่อาจมีการขยายเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ ในการทดสอบ ผู้สมัครจะต้องมีกระบวนการในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคทั้งการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และชดเชยให้ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นและต้องมีกระบวนการในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจมีขึ้น รวมถึงต้องส่งรายงานให้แก่สำนักงาน คปภ. ด้วย
นายสมเกียรติ วัฒนาประสบสุข ได้กล่าวถึงเรื่อง Cybersecurity for InsurTech ว่าในปัจจุบันธุรกิจ Startup มีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งนี้เพราะได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผนวก แต่เมื่อมีโอกาส ก็ย่อมมีความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่ในปัจจุบันมีพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน หากไม่คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ก็จะไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่นยืน ดังนั้นในการพัฒนา Software เพื่อเข้ามาตอบโจทย์ของ InsurTech นั้นต้องคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจให้ได้อย่างต่อเนื่องในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์ (Cyber resilience)
นอกจากนั้น ยังได้กล่าวถึง GDPR (Generic Data Protection Regulation) ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองที่อาศัยอยู่ในเขตสหภาพยุโรป มีผลบังคับใช้เมื่อ 25 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมามีผลให้บริษัทที่ต้องถือครองข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องทบทวนการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการควบคุมที่ใช้อยู่เพียงพอต่อการปกป้องข้อมูลดังที่ระบุไว้ในกฎหมายหรือไม่ ในส่วนของผู้ให้ข้อมูลเองก็ควรศึกษาถึงประโยชน์ หรือสิทธิที่จะได้รับด้วย โดย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีความที่คล้ายคลึงกันกับ GDPR
ในส่วนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาวามมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ได้จัดแบ่งกลุ่ม Critical Information Infrastructure (CII) ออกเป็น 6 กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มความมั่นคงและบริการภาครัฐที่สำคัญ กลุ่มการเงิน กลุ่มเทคโนโลยีและโทรคมนาคม กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค กลุ่มสาธารณสุข และกำหนดให้ต้องมีมาตรฐานในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ได้กำหนดมาตรฐานและมาตรการที่พึงนำไปใช้เป็นกรอบในการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ประกอบด้วย มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสำหรับโปรแกรมประยุกต์บนเว็บไซต์ (Web Application Security Standard :WAS) มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสำหรับเว็บไซต์ (Website Security Standard :WSS) มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยตามวิธีการแบบปลอดภัย พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และกรอบการดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (NIST Cyber security Framework) ซึ่งบริษัทประกันภัยจะอยู่ภายใต้กลุ่มการเงิน จึงเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อประเทศ และต้องดำเนินการตามมาตรฐาน และมาตรการต่างๆที่กล่าวข้างต้น ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงควรเร่งทบทวนมาตรการควบคุมต่างๆ ที่บริษัทดำเนินการอยู่เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดังกล่าว
ทั้งนี้ กิจกรรมต่อไปของ CIT คือการจัดประกวด OIC InsurTech Award ซึ่งได้เชิญชวนทีม Startup ด้าน InsurTechทั่วประเทศไทยมาประกวดเพื่อชิงความเป็นสุดยอดฝีมือด้าน InsurTech โดยขณะนี้มีทีม startup สมัครเข้าประกวดแล้ว 14 ทีม โดยคณะกรรมการตัดสินจะให้ทีมเข้าประกวดนำเสนอผลงานเพื่อคัดให้เลือก 5 ทีม ก่อนที่จะให้ทั้ง 5 ทีมเข้าชิงกันในวันที่ 8 กันยายน 2561 เพื่อตัดสินทีมที่ชนะเลิศที่จะเป็นสุดยอด OIC InsurTech แห่งปีนี้ในงานสัปดาห์ประกันภัย 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รายละเอียดติดตามได้ใน https://cit.oic.or.th ซึ่งเป็นเว็ปไซต์ของศูนย์ CIT.