ราฎร์รัฐร่วมปลูกป่าประชารัฐปี 3 เพิ่มแหล่งเก็บน้ำ 300 ล้าน ลบ.ม.
โครงการปลูกป่าประชารัฐ ฟื้นฟูต้นน้ำยม ปีที่ 3 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิรลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุ 66 พรรษา
จัดโดยชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมชลประทาน และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่เขตรักษาพันธุสัตว์ป่าเวียงลอ อ.ปง จ.พะเยา โดยมีนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายณรงค์ศักดิ์โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา รวมถึงหน่วนงานภาครัฐและเอกชน เกษตรกร และประชาชนในพื้นที่กว่า1,000 คนเข้าร่วมงานฯ เมื่อวันที่ 21-22 กรกฎาคมที่ผ่านมา
จากรายงานของตัวแทนภาครัฐ ทั้งจากกรมอุทยานสัตว์ป่าฯ และกรมชลประทาน ระบุว่า ปัญหาที่พบในพื้นที่บริเวณลำน้ำยมคือ ฤดูฝนมักเกิดปัญหาน้ำท่วม แต่พอถึงฤดูแล้ง ปริมาณน้ำกลับมีใช้ไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่ แม้จะมีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำแล้ว 87 โครงการ แต่กักเก็บน้ำได้เพียง 12.25 ล้านลบ.ม. มีปริมาณเหลือไหลลงสู้พื้นที่ตอนล่างถึง 904.9 ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่รับประโยชน์เพียง 94,370 ไร่เท่านั้น
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขต อ.เชียงม่วน ความจุ 90.50ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการ 28,000 ไร่ รวมถึงส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยอม(ฝายแม่ยม) จ.แพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงอีก 35,000 ไร่
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานยังคงมุ่งเน้นพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำให้กระจายไปใน อ.ปง และอ.เชียงม่วน ตามศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น อ่างเก็บน้ำ ฝาย แก้มลิง และมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำเพิ่มเติมอีก 80 โครงการ ซึ่งหากสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้พท้นที่ดังกล่าวสามารถกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก 220ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นอีก 162,000 ไร่
“ความต้องการใช้น้ำในลุ่มน้ำยมแต่ละปีมีประมาณ 300-500 ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่รับประโยชน์ 250,000 ไร่ แต่โครงการที่ได้ก่อสร้างไปแล้วและกำลังก่อสร้างในอนาคต จะกักเก็บน้ำได้เพียง 230 ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่ใช้ประโยชน์เพียง 115,000 ไร่ ทำให้ต้องจัดหาน้ำเพิ่มอีกราว 300 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่ประสบปัญหาอีก 100,000 ไร่” ตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐ ระบุ
ด้านนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากรายงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเห็นว่าในพื้นที่ยังคงขาดน้ำสูงถึงปีละ 300 ล้าน ลบ.ม. จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมบูรณาการอย่างเป็นระบบ ตนมีแนวคิดที่จะเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือและสร้างแนวทางดำเนินงาน โดยจะลงพื้นที่ใน จ.พะเยาและกินนอนร่วมกันตลอด 3วัน เพื่อระดมสะมองหาทางเพิ่มปริมาณที่ยังขาดแคลน ซึ่งจำเป็นจะต้องดึงศักยภาพการดำเนินงานและความมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับไปทั่วโลกของ ผจว.พะเยา (นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร) มาช่วยในภารกิจนี้ โดยเบื้องต้นตนจะปรึกษาผู้เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดวันนัดหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นตนเห็นว่า ส่วนราชการและชาวบ้านในพื้นที่จะต้องช่วยกันสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำเสริมกันและกันทั้งการทำอ่างเก็บน้ำ ฝาย แก้มลิง ในความรับผิดชอบของส่วนราชการแล้ว แต่ในส่วนของภาคประชาชนยังช่วยกันสร้างคูคลองหนองบึงและล้ำน้ำในพื้นที่การเกษตรของตัวเอง โดยเฉพาะการยกคันนาให้สูงขึ้นเพื่อจะได้กักเก็บน้ำให้มากที่สุด
“เราจำเป็นต้องบูรการการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน ภายใต้การนำทีมของ ท่านผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ ซึ่งเชื่อว่าปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน คงจะบรรเทาเบาบางลงไปได้มากทีเดียว “ รมช.เกษตร ระบุ
ขณะที่ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า แม้ตนจะเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ผวจ.พะเยาได้ไม่นาน แต่พร้อมขานรับนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ และฟื้นฟูต้นน้ำยม รวมถึงการรณรงค์ส่งเสริมให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนป่าต้นน้ำ รวมถึงสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการปกป้อง พิทักษ์และรักษาธรรมชาติให้อยู่คู่มจ.พะเยาตลอดไป
ด้านนายณรงค์ ปานนอก ชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ความร่วมมือ ร่วมแรงและร่วมใจ ที่เกิดขึ้นจากภาครัฐ ภาคเอกชน ส่วนราชการต่างๆเกษตรกร และภาคประชาชน ทั้งในและนอกพื้นที่นั้น ทำให้มั่นใจได้ว่า จากนี้ไปเราจะได้เห็นการบูรณาการในการปกป้องและรักษาป่าอันเป็นต้นน้ำที่สำคัญของ จ.พะเยา รวมถึงการเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำให้กว้างไกลและทั่วถึง ซึ่งจะทำให้สามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในยามที่มีปริมาณน้ำมาก ไม่เพียงจะเอาไว้ใช้ในยามฤดูแล้ง หากยังช่วยลดทอนปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย.