SCBS ชี้หุ้นไทยสิ้นปีนี้พุ่ง1900 จุด
บล.ไทยพาณิชย์ คงมุมมองเศรษฐกิจเชิงบวก เหตุมีปัจจัยหนุนทั้งจากในและต่างประเทศ ระบุดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจเติบโตดี คาด SET index พลิกตัวสู่เป้าหมายที่ 1900 จุดภายในสิ้นปีนี้ เผยกลุ่มกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และแบงก์ ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่าและดอกเบี้ยสูง
นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างแข็งแกร่งถึง 4.8%YoY ในไตรมาสแรกของปี 61 โดยเติบโตสูงกว่าที่ตลาดคาด (4.0% YoY) และค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 4.25% ในขณะที่เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสเศรษฐกิจไทยก็ขยายตัว 1.3% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ดี และกระจายตัวในหลายธุรกิจ เช่น ผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น6.5%YoY ในขณะที่ผลผลิตนอกกลุ่มสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.7%YoY โดยมีธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร (5.8%ของ GDP) เติบโตอย่างโดดเด่นถึง 12.8%YoY สอดคล้องกับธุรกิจท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้อุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคและลงทุนต่างก็มีโมเมนตัมที่ดี ซึ่งหากแนวโน้มเช่นนี้ยังดำเนินต่อไปจะทำให้เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ดีและต่อเนื่องไปในอนาคต
ด้านเศรษฐกิจต่างประเทศดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มจะแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% มาตั้งแต่กลางเดือนเม.ย. โดยล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 93.5-94.5 ซึ่งการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะหลังนี้ได้รับแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยทางพื้นฐานมากกว่าปัจจัยทางเทคนิค ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ฟื้นตัวจากระดับตํ่าสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ 2.4% ในช่วงต้นเดือนม.ค. ขึ้นมาอยู่ที่ 2.9% ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2557เชื่อว่าเทรนด์นี้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามอัตราเงินเฟ้อและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเติบโตของค่าจ้างและการตึงตัวของตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ดันอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรไทยปรับขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ล่าสุดดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐฯ ก็สูงกว่าพันธบัตรไทยไปแล้วซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559
ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยอัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าจาก 31 บาท/ดอลลาร์เมื่อปลายเดือนมี.ค. มาอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดนับแต่เดือนพ.ย. 2560 โดยปัจจัยขับเคลื่อนทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน THB/USD ที่สำคัญที่สุด คือ ตัวดอลลาร์เองที่แข็งค่าขึ้น นอกเหนือไปจากปัจจัยอื่นๆ เช่นผลต่างอัตราดอกเบี้ย อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ และดุลบัญชีเดินสะพัด ทั้งนี้อีกปัจจัยที่จะทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนที่เผชิญกับแรงเสียดทานหลายอย่างในเดือนที่ผ่านๆ มาเริ่มตั้งแต่สภาพอากาศที่ยํ่าแย่ อุปสงค์ที่ชะลอตัวลง ข้อจำกัดทางด้านอุปทาน และปัญหาการเมืองในบางประเทศหลักๆ ในอิตาลี ส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปีนี้และยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวนับถึงปัจจุบัน ทำให้เมื่อเทียบกันเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อไป
ความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตามองและกำลังส่งผลกระทบต่อตลาดตอนนี้คือ นโยบายประชานิยมในรูปแบบที่ก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้า โดยเห็นกันมาแล้วตั้งแต่การโหวต Brexit การมีข่าวเรื่องอาจมีการแยกตัวจากสหภาพยุโรปของสมาชิกบางประเทศ ต่อเนื่องมาจนถึงสหรัฐฯ ที่นอกจากจะมีเรื่องสงครามภาษีกับจีนแล้ว ยังหันมาขึ้นภาษีกีดกันทางการค้ากับประเทศพันธมิตรอย่างเพื่อนบ้านแคนาดาและเม็กซิโก ไปจนถึงพันธมิตรในยุโรป ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ภาวะนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นอย่างการขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ เรายังมีมุมมองว่าสุดท้ายจะมีการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงกันได้ เพียงแต่ในช่วงนี้ข่าวสารต่างๆ น่าจะยังส่งผลลบต่อตลาดอยู่
แนวโน้มตลาดและ top picks ในไตรมาส 3/61 การปรับตัวลดลงของ SET index มาตั้งแต่ต้นไตรมาส 2/61 ส่งผลทำให้ valuation ของ SET ลดความแพงลง โดยอัตราส่วน 12-month forward PE ratio ลดลงจากราว 16 เท่ามาสู่ 14เท่า โดยเรามองว่าน่าจะเห็นการรีบาวด์ในไตรมาส 3/61 ตามพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ดี สภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง โดยหุ้น top picks ประจำไตรมาส 3/61 ของเราจึงจัดทัพรับเรทขึ้น เน้นหุ้นที่ราคายังขึ้นน้อยกว่าตลาดและมีปัจจัยสนับสนุนจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวหลัก ๆ คือ กลุ่มส่งออก และ กลุ่มธนาคาร
สำหรับหุ้นที่น่าสนใจ มีดังนี้ BBL: ได้ประโยชน์มากที่สุดจากแรงส่งเศรษฐกิจ รายได้ค่าธรรมเนียมจะเติบโตโดดเด่นROE จะกลับขึ้นมาอยู่ในระดับก่อนวัฏจักร NPL ได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น, KTB: กลับมาขยายสินเชื่อเพิ่มพร้อมกับตั้งสำรองลดลง valuation น่าสนใจที่ PBV 0.8 เท่า (-1SD) ได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นฐ HANA: ราคาหุ้น และ valuation ล้าหลังกว่าตลาด จะได้รับประโยชน์จากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าและความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังเติบโตดี
KCE: ราคาหุ้นล้าหลังกว่าตลาด รับประโยชน์จากดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบที่มีเสถียรภาพและปัญหาคอขวดการผลิตที่คลี่คลายลงจะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงาน, CPF: ราคาหุ้นล้าหลังได้ประโยชน์จากดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ธุรกิจหมูมีแนวโน้มฟื้นตัวในไตรมาส 2/61 และกำไรจากการแปลงสภาพหุ้นกู้อนุพันธ์ (EB) จะช่วยกระตุ้นให้ราคาหุ้นปรับขึ้น ขณะที่ TU: ราคาหุ้นล้าหลัง แต่กำไรจะกลับมาเติบโตตั้งแต่ไตรมาส 2/61 หลังจากต้นทุนวัตถุดิบลดลง ได้ประโยชน์จากดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า.