EIC เชื่อผลประชุมโอเปคไม่ช่วยฉุดราคาน้ำมัน
อีไอซีมองการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันของ OPEC ยังไม่สามารถรองรับสภาวะการตึงตัวของตลาดในครึ่งปีหลัง
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) ออกบทวิเคราะห์สถานการณ์การประชุมร่วมกัน ระหว่างกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC Ministerial Meeting ครั้งที่ 4 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2018 เกี่ยวกับข้อตกลงปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ซึ่งผลการประชุมฯมีมติเห็นชอบปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ โดยมีเป้าหมายจะปรับลด compliance rateจาก 152% ในเดือนพฤษภาคม 2018 ลงเหลือ 100% ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2018 เพื่อรักษาสมดุลของอุปสงค์และอุปทานน้ำมันในตลาดโลก และรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน โดยคาดว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 1% ของการผลิตน้ำมันโลก
ทั้งนี้ อีไอซีมองว่า ราคาน้ำมันดิบ Brent ในช่วง 2H2018 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงที่ราว 70-75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากปริมาณอุปทานที่ปรับเพิ่มขึ้นยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยปริมาณอุปทานที่ตลาดคาดว่าจะลดลงจากอิหร่าน และเวเนซุเอลา ทั้งนี้ คาดว่าผลจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน จะทำให้อุปทานในตลาดโลกลดลงราว 2 แสน-1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลกอย่างเวเนซุเอลา ประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจทำให้ต้องลดการผลิตน้ำมันอย่างต่อเนื่องจาก 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมกราคม 2017 มาอยู่ที่ระดับ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าเวเนซุเอลาจะปรับลดการผลิตลงเหลือไม่เกิน 8 แสนบาร์เรลต่อวันในช่วงครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามติที่ประชุม OPEC จะทำให้มีการคาดการณ์กันว่า OPEC จะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นราว1 ล้านบาร์เรลต่อวันเพื่อชดเชยเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ OPEC อาจผลิตได้จริงเพียง 6-8 แสนบาร์เรลต่อวันเท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดของโควตาการผลิตระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก โดยผู้ผลิตที่มีกำลังการผลิตสำรองเหลืออย่าง ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต ที่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันได้ แต่ขณะนี้มีการผลิตใกล้เคียงกับโควตาของตนเองอยู่แล้ว เป็นผลให้การผลิตจริงอาจต่ำกว่าปริมาณที่คาดการณ์
อีไอซียังคาดว่า ปริมาณความต้องการน้ำมันดิบของโลกยังปรับระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2H2018 โดยเฉพาะช่วง 4Q2018 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของการใช้น้ำมันโลก ซึ่งสอดคล้องกับที่ OPECคาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันในปี 2018 จะเพิ่มขึ้นอีก 1.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ น้ำมันดิบคงคลังของประเทศกลุ่ม OECD (The Organization of Economic Cooperation and Development) ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำมันราว 50% ของโลก ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ในเดือนมีนาคม 2018 มาอยู่ที่ 2,812 ล้านบาร์เรล และต่ำกว่าระดับน้ำมันดิบคงคลังค่าเฉลี่ย 5 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้น้ำมันอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการขึ้นของราคาน้ำมัน
นอกจากนี้ การเพิ่มปริมาณการผลิตตามข้อตกลงสอดคล้องกับนโยบายของซาอุดีอาระเบียที่ต้องการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน โดยซาอุดีอาระเบียมีเป้าหมายราคาน้ำมันอยู่ในช่วง 70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจตามแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ต้องการลดการพึ่งพาน้ำมันและเปลี่ยนเป็น hub ด้านการค้าในตะวันออกกลางแทน ในขณะเดียวกันก็รักษาระดับราคาน้ำมันไม่ให้ต่ำจนเกินไป เนื่องจากซาอุดีอาระเบียมีแผนการออก IPO ของบริษัท Saudi Aramcoในปี 2019 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนว่าซาอุดีอาระเบียสามารถจัดการระดับอุปสงค์และอุปทานให้มีความสมดุลเพื่อลดความผันผวนของราคาน้ำมัน
ส่วนราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวในระดับสูงจะส่งผลบวกต่อผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน และมูลค่าการส่งออกของไทย อีไอซีมองว่า อุตสาหกรรมน้ำมัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะมีรายได้มากขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน ในขณะเดียวกัน เชื้อเพลิงชีวภาพ B20 จะได้รับอานิสงส์จากการที่ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนมาใช้มากขึ้นตามการสนับสนุนของภาครัฐ รวมทั้งผู้เล่นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่รายได้มีแนวโน้มสูงขึ้นจากส่วนต่างราคาขายผลิตภัณฑ์ที่สูงกว่าราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ในส่วนของภาคการส่งออก ระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะสนับสนุนการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยจากปัจจัยด้านราคา โดยอีไอซีคาดการณ์ว่าในปี 2018 มูลค่าการส่งออกของไทยจะเติบโตที่ 8.5%ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2018 สินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์และพลาสติก เติบโต 30.7%YOY และ 29.5%YOY ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูงนั้นจะส่งผลลบต่อผู้ประกอบการที่มีต้นทุนน้ำมันเป็นสัดส่วนใหญ่ เช่น ธุรกิจสายการบิน ขนส่งและโลจิสติกส์ อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น รวมไปถึงภาคครัวเรือนผู้ใช้รถจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันขายปลีกที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน อย่างไรก็ดีมาตรการดูแลราคาขายปลีกจากเงินกองทุนน้ำมันจะช่วยลดผลกระทบของภาคธุรกิจและครัวเรือนไปด้วยในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าสินค้าในกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิงในเดือนพฤษภาคมเติบโตกว่า25%YOY ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น.