สบน. ร่วมกับ ADB จัดประชุมนานาชาติ
สบน. ร่วมกับ ADB จัดประชุมนานาชาติ ตั้งเป้าสร้างเครือข่ายด้านการบริหารหนี้สาธารณะในยุคดิจิตัลกับ 48 ประเทศ APAC
นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน ในฐานะรองโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รายงานว่า กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ มีกำหนดจัดการประชุม “2018 Asian Regional Public Debt Management Forum” ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ในระหว่างวันที่ 13 – 15 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมโนราบุรี รีสอร์ท แอนด์ สปา อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งจะมีผู้แทนจาก 48 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำนวนกว่า 180 คน จากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ธนาคารกลาง องค์การระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ โดยมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด การประชุมดังกล่าวได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Prudent Debt Management for Sustainable Growth in the age of Digital Transformation” ซึ่งจะเป็นเวทีที่ทำให้ผู้แทนจากประเทศต่างๆ ได้หารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการหนี้สาธารณะร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของนานาประเทศ นำไปสู่การร่วมกันกำหนดมาตรการการรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการปรับตัวในยุคดิจิตัลที่ต้องผสมผสานการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงาน อาทิ การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ Big Data หรือระบบ Block Chain เป็นต้น โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จะรวมถึงการหารือเกี่ยวกับแนวทางการเฝ้าระวังผลกระทบและการจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็วซึ่งอาจส่งผลต่อการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ADB จัดการประชุม Asian Regional Public Debt Management Forum ร่วมกับประเทศสมาชิกเป็นประจำทุกปี โดยประเทศไทยเคยได้รับเกียรติร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว เมื่อปี 2011 ณ จังหวัดภูเก็ต นับเป็นเวลาเกือบ 10 ปี กว่าที่โอกาสจะเวียนมาถึงประเทศไทยอีกครั้งในปี 2018 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่ประเทศไทยจะได้แบ่งปันประสบการณ์และแสดงศักยภาพด้านการบริหารจัดการทางการเงินการคลังให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล และร่วมกันผลักดันให้เกิดความร่วมมือทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ต่อประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกด้วย.