คปภ. จับมือ กระทรวงยุติธรรม เสริมเขี้ยวเล็บสร้างเครือข่าย
คปภ. จับมือ กระทรวงยุติธรรม เสริมเขี้ยวเล็บสร้างเครือข่ายบูรณาการการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคครบวงจร เดินหน้าแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านการประกันภัยกับประชาชนทั่วประเทศ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง โดย สำนักงาน คปภ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (กคส.) กระทรวงยุติธรรม โดยศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมลงนาม ซึ่งการลงนามครั้งนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ทั้งที่อยู่และมิได้อยู่ในระบบประกันภัยให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยและสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 รวมถึงการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อประโยชน์ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนที่ตกเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ซึ่งจะไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ประชาชนผู้เสียหายพึงได้ตามกฎหมายอื่น
สำหรับความเป็นมาในการทำความร่วมมือกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ(กคส.) นั้น สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ(กคส.) มาแล้ว 2 ฉบับ โดยฉบับแรก เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2554 มุ่งเน้นความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเครือข่าย ได้แก่ ผู้นำชุมชน เครือข่าย อาสาสมัครคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและอาสาสมัครประกันภัย ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนจากการประกันภัย และฉบับที่สอง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2557 เป็นการเพิ่มการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวม 4 หน่วยงาน คือ สำนักงาน คปภ. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และการใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้กรอบของกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนที่ตกเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือทั้งสองฉบับยังมีข้อจำกัด กล่าวคือ ความร่วมมือฉบับแรกเป็นความร่วมมือเฉพาะในด้านประกันภัย ขณะที่ความร่วมมือฉบับที่สอง ยังไม่ได้ระบุถึงลักษณะของข้อมูลที่จะมีการแลกเปลี่ยน รวมทั้งยังไม่ได้ครอบคลุมถึงบทบัญญัติในพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559
เพื่อเป็นการยกระดับความร่วมมือของฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ในการขับเคลื่อนภารกิจของสำนักงาน คปภ. และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้มีการลงนามเอ็มโอยูระหว่างสำนักงาน คปภ. กับกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก มุ่งส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย และสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาฯ ให้กับบุคลากรของสำนักงาน คปภ. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หน่วยงานเครือข่าย และประชาชนทั่วไปให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ส่วนที่สอง สนับสนุนแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ โดยระบุประเภทของข้อมูลให้ชัดเจนขึ้น ได้แก่ ข้อกฎหมาย การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย และการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย และการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาฯ
ส่วนที่สาม จะร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย และการช่วยเหลือเยียวยาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาฯ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ อันเป็นประโยชน์ต่อทั้ง สำนักงาน คปภ. และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่มีประโยชน์ต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ โดยประชาชนจะได้รับความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยและสิทธิประโยชน์ ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การทำ MOU ร่วมกันในครั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดย ได้รับเกียรติจาก ปลัดกระทรวงยุติธรรม มาร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ จึงนับเป็นก้าวสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับ กระทรวงยุติธรรม โดยลำดับแรก สำนักงาน คปภ. และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้จัดให้มีการบรรยายความรู้เรื่องสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาระสำคัญของตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ของสำนักงาน คปภ. ในส่วนกลางที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน รวมทั้ง ได้มีการบันทึกวีดีโอการบรรยายดังกล่าว เพื่อจัดส่งให้กับผู้อำนวยสำนักงาน คปภ.ภาค/จังหวัด และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. ในส่วนภูมิภาค ที่มีสำนักงานใน 9 ภาค 69 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้มีความรู้ และสนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจ สิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีแผนงานในการจัดอบรมความรู้ด้านการประกันภัยให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในลำดับต่อไป
“ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี สำนักงาน คปภ. นอกจาก จะกำกับดูแลและส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยมีศักยภาพและขีดความสามารถพร้อมในการแข่งขันแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการคู่ขนานกัน คือ การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนและการทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยแก่ประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นให้ธุรกิจประกันภัยเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย