คปภ. สรุปยอดความเสียหาย ในช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์
มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 600 ล้านบาท เร่งบริษัทประกันภัยช่วยเหลือประชาชนเพื่อเยียวยาอย่างรวดเร็วและทันท่วงที
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันภัยและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมาตลอด โดยเฉพาะการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนซึ่งเป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาได้ จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวมาอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนเพื่อให้มีการนำระบบประกันภัยมาบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ
สำนักงาน คปภ. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในช่วงที่ผ่านมาด้วยการออกมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านบริการสายด่วน คปภ. 1186 ในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเทศกาลสงกรานต์ เพื่อเตรียมรับมือและพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัยกับประชาชนผู้ประสบภัยได้ทันท่วงทีกรณีเกิดอุบัติเหตุ พร้อมสั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาค 1-9 ติดตามและรายงานความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประสานความร่วมมือกับสมาคม/บริษัทประกันภัย ให้รายงานข้อมูลให้ทราบอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่รองรับไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2561 ในช่วง 7 วัน ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2561 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่าสถิติอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยในปี 2561 เกิดอุบัติเหตุรวมทั้งสิ้น 3,724 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 34 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 0.92 มีผู้เสียชีวิต 418 ราย และผู้บาดเจ็บ 3,897 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือการขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด
สำหรับความเสียหายด้านการประกันภัย สำนักงาน คปภ. ได้รับรายงานล่าสุด ณ วันที่ 23 เมษายน 2561 เวลา 09.00 น. ในช่วงระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2561 มีอุบัติเหตุภัยเกิดขึ้น จำนวน 31,651 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 608,572,386.83 บาท จึงได้สั่งการให้บริษัทประกันภัยเร่งประเมินความเสียหายและจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วยความรวดเร็วเพื่อเป็นการให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
นอกจากนี้ ในช่วง 7 วันอันตราย ได้มีประชาชนใช้บริการผ่านบริการสายด่วน คปภ. 1186 เป็นจำนวนมาก โดยประเด็นที่โทรศัพท์มาขอรับคำปรึกษาสูงสุด 3 อันดับ คือ สอบถามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) สอบถามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยภาคสมัครใจ และตรวจสอบข้อมูลการจัดทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
เลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าการทำประกันภัยไม่สามารถป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่การประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงภัย หากเกิดอุบัติเหตุแล้ว การประกันภัยสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ และฝากเตือนถึงเจ้าของรถรวมถึงผู้ใช้รถขอให้ทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนดและหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์ด้วยเพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึงและครบวงจร และถ้ามีกำลังซื้อขอให้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจเพิ่มเติม เพื่อจะได้รับความคุ้มครองที่มากขึ้นอย่างไรก็ตามสำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยและเร่งประสานงานด้านค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งผู้ที่ได้รับความเสียหายต่อทรัพย์สินทุกท่านอย่างเต็มที่ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องประกันภัยสามารถติดต่อมาที่สายด่วน คปภ. 1186”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th หรือ กลุ่มงานสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02-515-3998-9 ต่อ 8307 โทรสาร 02-513-1437 http://www.facebook.com/PROIC2012.