เอสซีจี โชว์ศักยภาพ R&D จัดทัพนวัตกรรมตอบโจทย์ตลาดโลก
ระยอง (8 มีนาคม 2561): กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ ในเอสซีจี ทุ่มงบกว่า 3,600 ล้านบาท ผลักดันงานวิจัยสู่ตลาดโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ รวมถึงโซลูชั่นใหม่ ๆ ล่าสุด จัดทัพนวัตกรรมพลาสติก และ Non-Petrochemicals สู่ตลาดโลก เชื่อมั่นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้า และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างยั่งยืน
นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า “กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ มุ่งสร้างความแตกต่างด้านสินค้าและบริการ ผ่านการนำเสนอในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจร ด้วยกระบวนการค้นหาความต้องการเชิงลึกของลูกค้าและผู้บริโภค เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ ได้นำการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA (High Value Added Products and Services) โดยการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง และการร่วมมือกับลูกค้าในเชิงลึกเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน นอกจากนี้ ยังได้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ (Eco-Innovation) ผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยกับสถาบันชั้นนำระดับโลก”
นายชลณัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในปี 2018 นี้ กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ ตั้งงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนากว่า 3,600 ล้านบาท เพื่อผลักดันงานวิจัยสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก โดยเรามีการวิจัยและพัฒนาที่หลากหลายทั้งนวัตกรรมพลาสติก และ Non-Petrochemicals เช่น การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ หรือ Floating Solar Farm ในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจร เป็นรายแรกของประเทศไทย โดยเล็งเห็นว่าพื้นที่ผิวน้ำในประเทศไทยมีประมาณ 14,600 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 3 ของพื้นที่ประเทศ หากนำพื้นที่เหล่านี้มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ลูกค้าก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้น ซึ่งโซลาร์ฟาร์มแบบลอยน้ำให้ประสิทธิภาพสูงกว่าการติดตั้งบนพื้นดิน และบนหลังคา เนื่องจากอาศัยธรรมชาติของน้ำในการระบายความร้อน (cooling effect)”
การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ เป็นการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยการนำเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษมาออกแบบและพัฒนาเป็นทุ่นลอยสำหรับใช้กับแผงโซลาร์ ซึ่งติดตั้งง่าย รวดเร็ว และ ประหยัดพื้นที่ได้ถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ ทุ่นลอยน้ำยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 25 ปี ใกล้เคียงกับอายุการใช้งานของแผงโซลาร์
“เราพัฒนาตัวทุ่นให้ตอบโจทย์สภาพการใช้งานบนผิวน้ำที่หลากหลาย และต่อยอดไปสู่ธุรกิจโซลูชั่นแบบครบวงจรเป็นรายแรกในประเทศไทย โดยสามารถให้บริการตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การผลิตทุ่น การติดตั้งและระบบยึดโยงตัวทุ่น ไปจนถึงการดูแลรักษา ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้พื้นที่ผิวน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรน้ำจากการระเหย และช่วยเพิ่มพื้นที่ผลิตพลังงานทดแทนให้กับประเทศอีกด้วย” นายชลณัฐ กล่าว
สำหรับการบำรุงรักษานั้น เราได้เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับความปลอดภัยในการทำงานโดยใช้ “โดรน” (Drone) บินสำรวจและตรวจสอบค่าความร้อนโดยสามารถบันทึกภาพเพื่อนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์ได้ นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ดำน้ำ (Underwater Visualizer Robot) เพื่อตรวจสอบทุ่นและโครงสร้างที่อยู่ใต้น้ำ
นอกเหนือจากนวัตกรรมเพื่อพลังงานทดแทนแล้ว เรายังมีนวัตกรรมสารเคลือบเตาเผาอุตสาหกรรมเพื่อการประหยัดพลังงานสำหรับโรงงาน ภายใต้ชื่อ “อิมิสโปร” (emisspro®) ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้ซึ่งเป็นโรงงานปิโตรเคมีและโรงกลั่นชั้นนำในเอเชีย ล่าสุด ได้เปิดตัวสินค้า “อิมิสโปร ไฮเท็ม” (emisspro HT®) สำหรับการใช้งานในเตาเผาอุตสาหกรรมที่ใช้อุณหภูมิสูงเกินกว่า 1,200 องศาเซลเซียส เช่น โรงงานผลิตเหล็ก เป็นต้น โดยสามารถลดการใช้พลังงานได้กว่าร้อยละ 2-6
ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ มีทีมงานวิจัยประมาณ 630 คน ในจำนวนนี้เป็นนักวิจัยระดับ Ph.D. คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม หรือ ASTEC (Advanced Science and Technology Center) ที่ทันสมัยเทียบเท่าระดับสากล โดยในปี 2017 กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ มีสิทธิบัตรเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 83 ซึ่งเป็นการจดสิทธิบัตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ.