กพร. เพิ่มผลิตภาพแรงงานต่อยอดไทยแลนด์ 4.0

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดตัวโครงการ “STEM Workforce towards Thailand 4.0” เน้นเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน กรุงเทพมหานคร
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการว่า รัฐบาลยุคปัจจุบันให้ความสำคัญอย่างมากในการวางรากฐานในการพัฒนาประเทศให้มีความยั่งยืน โดยมีกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีขึ้นมาเป็นแนวทาง โดยที่แต่ละหน่วยงานช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ด้านแรงงาน เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายในการนำพาประเทศเข้าสู่ “ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0)” ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ส่งผลให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งนายจ้าง พนักงาน และสถานประกอบกิจการต้องมีการปรับตัวสถานการณ์ดังกล่าว กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงเร่งดำเนินโครงการ “STEM Workforce towards Thailand 4.0” ในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งได้ยึดหลักองค์ความรู้ด้าน STEM ที่ประกอบด้วยด้านวิทยาศาสตร์การวิจัย ด้านเทคโนโลยี ด้านวิศวกรรม และด้านคณิตศาสตร์ มาบริหารจัดการ อันเป็นจุดเริ่มที่จะปูพื้นฐานองค์ความรู้ต่างๆ ให้พนักงาน SMEs เพื่อนำมาประยุกต์ในการทำงาน การพัฒนานวัตกรรม และเตรียมความพร้อมสู่ประเทศไทย 4.0
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่าโครงการดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย เป็นการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจ SMEs ที่มีผู้ประกอบเป็นคนไทย โดยจะใช้แนวทางประชารัฐในการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานประกอบกิจการ กพร.จะมีที่ปรึกษาที่เป็นนักวิชาการให้แก่สถานประกอบกิจการในการมอบองค์ความรู้ด้าน STEM ในการขับเคลื่อนการผลิตชิ้นงานต่างๆ ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กล่าวคือในเวลาที่เท่ากัน สามารถผลิตชิ้นงานที่เพิ่มมากขึ้นและเป็นชิ้นงานที่มีคุณภาพ สามารถนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต มีการบริหารจัดการคลังสินค้า ส่งผลให้สถานประกอบกิจการได้รับประโยชน์ในการพัฒนาทักษะฝีมือพนักงาน รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างและพนักงานด้วย สำหรับในปี 2560 มีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการจำนวน 180 แห่ง ใน 19 ธุรกิจ เป้าหมายพัฒนากำลังแรงงานกว่า 10,000 คน และคาดว่าจะลดต้นทุนการผลิตในสถานประกอบกิจการไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
นางสาวศราวรรณ ปิยะธาราธิเบศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการขายของบริษัท ปั้นข้าว จำกัด กล่าวว่าบริษัทดำเนินการธุรกิจเกี่ยวกับเส้นหมี่ เส้นก๊วยเตี๋ยว ในการจำหน่ายให้แก่ร้านอาหารและโรงแรม จากได้เข้าร่วมโครงการในปีที่แล้วทำให้บริษัทมีการจัดการบุคลากรอย่างเหมาะสม ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น เกิดการจัดการอุปกรณ์การทำงานที่ดี ง่ายต่อการทำงาน ง่ายต่อการจัดเก็บและทำความสะอาด ลดการสูยเสียผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างมาก
ด้านนายต่อศักดิ์ เปี่ยมสัมฤทธิ์ General Manager ของบริษัท สยามโมลด์ แอนด์ พาร์ท จำก้ด เปิดเผยว่าบริษัทดำเนินการธุรกิจเกี่ยวกับผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์และเทคโนโลยี เมื่อได้เข้าร่วมโครงการก็สามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงานได้มากขึ้น เปอร์เซ็นต์ของเสียก็ลดลง สามารถบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน พร้อมกับประหยัดพลังงานและรายจ่ายลงได้