ความเชื่อมั่นนักธุรกิจกระเตื้องขึ้น
ความเชื่อมั่นนักธุรกิจกระเตื้องขึ้น หลังภาครัฐเดินหน้ากระตุ้นการลงทุน
ดัชนีธุรกิจกรุงไทยไตรมาส 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับปกติ สะท้อนความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้า ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 อย่างต่อเนื่อง นักธุรกิจส่วนใหญ่เห็นว่าเศรษฐกิจและธุรกิจในอนาคตจะยังคงขยายตัว และคาดหวังผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ ได้ร่วมกับสายงานธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย สายงานธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจขนาดใหญ่ จัดทำดัชนีธุรกิจกรุงไทย (Krung Thai Business Index: KTBI) โดยสำรวจความเชื่อมั่นของลูกค้านักธุรกิจจำนวนกว่า 2,600 รายทั่วประเทศ พบว่าดัชนี KTBI ประจำไตรมาสที่ 2/2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือระดับปกติอีกครั้งที่ระดับ 50.43 สูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส และความเชื่อใน 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.18 เป็น 50.95 สูงกว่าระดับปกติอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุหลักมาจากภัยแล้งบรรเทาลงหลังเข้าสู่ฤดูฝน ราคาสินค้าเกษตรบางรายการปรับตัวดีขึ้น ช่วยลดแรงกดดันต่อกำลังซื้อของประชาชนในภูมิภาคลงได้ระดับหนึ่ง การท่องเที่ยวยังคงขยายตัว แม้เข้าสู่ช่วง Low Season ที่สำคัญการที่รัฐบาลประกาศเดินหน้ากระตุ้นการลงทุน มูลค่ารวม 5.5 ล้านล้านบาท ในระยะ 5 ปี โดยเฉพาะการเร่งดำเนินโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการออกมาตรการทางภาษีและการเงินเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ ทำให้นักธุรกิจคาดหวังว่ามาตรการเหล่านี้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจและธุรกิจค่อย ๆ ฟื้นตัวในระยะต่อไป นอกจากนี้ ต้นทุนการเงินและพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำ ช่วยพยุงต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ
นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง กล่าวต่อไปว่า การที่ความเชื่อมั่นโดยรวมยังเพิ่มไม่สูงมากนัก เป็นเพราะความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอก เช่น การส่งออกที่ยังหดตัว การผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวไม่มาก ปัจจัยการเมือง ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจาก Brexit ที่แม้ว่าจะยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการค้าและภาคเศรษฐกิจจริงในปัจจุบัน จนกว่าการเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรจะได้ข้อสรุป แต่ความไม่ชัดเจน ในขณะนี้ สร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นและการเคลื่อนไหวในตลาดทุนและตลาดเงิน โดยเฉพาะด้านค่าเงิน ซึ่งผู้ประกอบการที่มีรายรับและรายจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และให้ความสำคัญกับการทำประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน