คปภ.ถอนใบอนุญาตตัวแทน-นายหน้าประกันภัย 13 ราย
คปภ. เผยไตรมาสแรกปี 59 เพิกถอนใบอนุญาต“ตัวแทน-นายหน้าประกันภัย” 13 ราย
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันภัยทั้งระบบ มีตัวแทน/นายหน้าประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 502,934 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพที่ดี แต่ก็ยังมีตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่กระทำผิดกฎหมายสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน
โดยในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2559 หรือภายในไตรมาสแรกของปีนี้ นายทะเบียนได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย จำนวน 13 ราย โดยอาศัยอำนาจตาม ข้อ 6 (4) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการประกาศ หรือโฆษณาการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าการประกันชีวิต (วินาศภัย) พ.ศ. 2556
จึงแจ้งให้สาธารณชนรับทราบดังมีรายชื่อต่อไปนี้ นางรัตนา โพธิ์วิจิตร ตัวแทนประกันชีวิต นางวิเศษ เปรมปรีดิ์วงศ์ ตัวแทนประกันชีวิต นางดวงใจ สมอาจ ตัวแทนประกันชีวิต นางกฤติยาพร มาลา ตัวแทนประกันชีวิต นางสาวสมัชญา ณ นครพนม ตัวแทนประกันชีวิต นางสาวอรัญ โชคเจริญ ตัวแทนประกันชีวิต นายวีรวิชญ์ ไตรวิวัฒน์นรา นายหน้าประกันวินาศภัย นางสาววิจิตรา จินตนา ตัวแทนประกันชีวิต บริษัท บิลเลี่ยน โบรกเกอร์ จำกัด นายหน้าประกันวินาศภัย นางสาวบุษบา ไผ่ประดับ นายหน้าประกันวินาศภัย นายไพรัตน์ ศักดาราช ตัวแทนประกันชีวิต นายตุลยธัช ธีรชัยอนันต์ (ชื่อเดิมนายธีรยุทธ ช้างสีสุก) ตัวแทนประกันชีวิต นายอติเทพ วัชรประทีป ตัวแทนประกันชีวิต
ส่วนสาเหตุของการกระทำความผิดของตัวแทน/นายหน้าประกันภัยทั้ง 13 ราย เกิดขึ้นใน 6ลักษณะ คือ 1) รับชำระเงินเบี้ยประกันภัยจากผู้ขอหรือผู้เอาประกันภัย แต่มิได้แจ้งขอเอาประกันภัยหรือนำส่งเงินเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทประกันภัย 2) กระทำการทุจริตการสอบ โดยสวมสิทธิ์เข้าสอบความรู้เพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตแทนผู้สมัครสอบ 3) ชักชวนให้บุคคลเอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย
โดยอธิบายเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ไม่ครบถ้วนถูกต้องตามความเป็นจริง 4) กระทำการในฐานะเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยและในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันนิติบุคคลที่มิได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย มอบหมายให้พนักงานซึ่งมิได้รับอนุญาตให้เป็นนายหน้าประกันวินาศภัยชี้ช่องให้บุคคลเอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย และให้ชำระเงินเบี้ยประกันภัยเข้านิติบุคคลดังกล่าว ประกอบกับเรียกเก็บเงินเบี้ยประกันภัยจากบัตรเครดิตของผู้ขอเอาประกันภัยเกินกว่าที่ตกลงกันไว้ และเมื่อมีการขอยกเลิกการทำประกันภัย ก็คืนเงินเบี้ยประกันภัยล่าช้า 5) ปลอมลายมือชื่อของผู้เอาประกันภัย ในการมอบอำนาจไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ากรมธรรม์สูญหาย ขอออกกรมธรรม์ฉบับใหม่ทดแทนที่สูญหายและแจ้งเปลี่ยนที่อยู่ของผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย และกู้เงินตามกรมธรรม์
ซึ่งเมื่อบริษัทออกเช็คเงินกู้ดังกล่าวแล้ว ได้ส่งมอบเช็คให้ผู้เอาประกันภัยโดยแจ้งว่าเป็นการชำระหนี้ส่วนตัวของตนที่มีต่อผู้เอาประกันภัย 6) ดำเนินงานเป็นเหตุให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีคำสั่งอายัดทรัพย์สิน ส่งผลให้ผู้สอบบัญชีปฏิเสธการรับรองงบการเงินของบริษัท และไม่สามารถจัดส่งรายงานเกี่ยวกับผลของการประกอบธุรกิจการเงิน และแบบ รปว. ประจำปี 2557 ซึ่งผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทั้ง 13 ราย จะไม่สามารถกระทำการเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยหรือขอรับใบอนุญาตใหม่ได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในอันที่จะได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง จากการซื้อประกันภัยจากตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่มีคุณภาพ ประชาชนควรจะตรวจสอบว่าผู้เสนอขายประกันภัย เป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง โดยสามารถตรวจสอบสถานะตัวแทน/นายหน้าประกันภัยได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th หรือสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186