กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตอกย้ำความสำเร็จ 6 เดือน
15 มิ.ย.59 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ / ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตอกย้ำความสำเร็จ 6 เดือน
การดำเนินงาน“คูปองวิทย์เพื่อ OTOP” พบมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเกินความคาดหวัง ณ พฤษภาคม มีผู้สนใจสมัครกว่า 1,000 รายและดำเนินการอนุมัติคูปองไปแล้ว 222 รายจากเป้าหมาย 200 ในปี 2559
ตามที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการยกระดับ OTOP ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ด้วยการมอบ“คูปองวิทย์เพื่อ OTOP” ให้บริการ 6 เรื่อง คือ พัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ออกแบบกระบวนการผลิต ออกแบบเครื่องจักร พัฒนาระบบมาตรฐาน สำหรับ 1) ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการโอท็อปที่เพิ่งเริ่มต้น (OTOP Start Up) เช่น ประชาชนทั่วไป กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนโอท็อป 2) ผู้ประกอบการโอท็อปที่ขึ้นทะเบียนแล้วและต้องการยกระดับดาว (Existing) และ 3) ผู้ประกอบการโอท็อปที่เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วน และต้องการเพิ่มศักยภาพในการส่งออก (Growth)
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวว่าตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่มีองค์ความรู้ อย่างเช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เข้าไปช่วยผู้ประกอบการพัฒนารูปแบบและคุณภาพของสินค้าในท้องถิ่น เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสินค้าท้องถิ่นให้สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลกที่ผ่านมานั้น ณ เดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา กระทรวงวิทย์ฯ โดยการดำเนินงานบูรณาการร่วมกันระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวง (สป.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) ได้ดำเนินการลงพื้นที่ ใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย นครพนม มุกดาหาร สกลนคร อ่างทอง ปทุมธานี ตรัง สุราษฎร์ธานี ลำปาง ตราด ภูเก็ต ขอนแก่น ตั้งแต่การแถลงข่าวเปิดตัว“คูปองวิทย์เพื่อ OTOP” ของ รมว.วท. เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 จนเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมามีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 997 ราย ไม่ผ่านคุณสมบัติจำนวน 29 ราย เหลือเป้าหมาย 968 ราย โดย 222 รายได้รับคูปองฯ และ 14 รายได้รับคำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาจนสำเร็จ รวม 236 รายจากเป้าหมาย 200 รายในปี 2559 นี้ ส่วน 732 รายที่สมัครเข้าร่วมโครงการกระทรวงวิทย์ฯ อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาโครงการดำเนินงานปี 2560 โดยแบ่งเป็นการดำเนินงานโดยหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวน 263 ราย และที่เหลืออีกจำนวน 469 ราย จะดำเนินการพิจารณาจับคู่กับนักวิทยาศาสตร์ของเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยีในพื้นที่ของผู้สมัครต่อไป
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า ในปี 2559 ที่ดำเนินการไปแล้ว 236 ราย รวมเป็นเงิน 39.67 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณ วท. 27.32 ล้านบาท (68.87%) และผู้ประกอบการสมทบ 12.35 ล้านบาท (31.13%) จากเป้าหมาย 200 รายนั้น เป็นผู้ประกอบการกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด จำนวน 157 ราย (ร้อยละ 71) รองลงมาคือกลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 28 ราย กลุ่มของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก จำนวน 28 ราย และ กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 9 ราย โดยเป็นการนำ วทน. ไปสนับสนุนการยกระดับวัตถุดิบ 7 ราย นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ 44 ราย ออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ 40 ราย ออกแบบกระบวนการผลิต 40 ราย ออกแบบเครื่องจักรที่ไม่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด 11 ราย การพัฒนาระบบมาตรฐาน 3 ราย และ
ดำเนินการพัฒนามากกว่า 1 เรื่อง จำนวน 77 ราย โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ย 5 ล้านบาทต่อรายในการประกอบธุรกิจ OTOP และจะทำให้มีมูลค่าการหมุนวียนทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากประมาณ 1,175 ล้านบาทต่อปีสำหรับการดำเนินงานในปี 2559
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวถึงแผนงานปี 2560 ว่า ท่านนายกฯ ได้กำชับให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไปดูแลเรื่องการต่อยอดสนับสนุนผู้ประกอบการหลังจากได้รับงานบริการจากคูปองวิทย์ฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ทางด้านการสนับสนุนเงินทุนต่อยอด การจัดจำหน่ายสินค้า การส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปขายยังตลาดต่างประเทศ พร้อมเน้นการทำงานประชารัฐเป็นหลัก และจากที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณปี 2560 มาจำนวน 198 ล้านบาทจากที่เสนอขอไปกว่า 440 ล้านบาท กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ปรับแผนการดำเนินงานปี 2560 ในการนำ วทน. ไปยกระดับผู้ประกอบการ OTOP จากเดิมประมาณ 1,000 รายเป็น 555 ราย โดยแบ่งเป็น
1. กลุ่มผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับบริการคูปองฯ ในปี 2559 รวม 363 รายจาก
การให้บริการผู้ประกอบการที่สมัครในปี 2559 ดำเนินงานโดยหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวน 263 ราย
การให้บริการผู้ประกอบการที่สมัครในปี 2559 ดำเนินการโดยหน่วยงานเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยี จำนวน 100 รายจากจำนวน 469 ราย
2. และกลุ่มผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับบริการคูปองฯ ในปี 2560 จำนวน 192 ราย
โดยจะเป็นการพัฒนากลุ่ม Start up จำนวน 215 ราย กลุ่ม Existing ที่ต้องการยกระดับดาว 260 ราย และ กลุ่ม Growth ส่งออกจำนวน 80 ราย และได้มอบหมายให้คณะทำงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มุ่งเน้นพิจารณาถึงคุณภาพในการดำเนินงานจาก ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมการในการใช้เทคโนโลยี และความพร้อมของเทคโนโลยีของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านอาหาร เทคโนโลยีสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เทคโนโลยีด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เทคโนโลยีของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก พร้อมทั้งความเชื่อมโยงกับการดำเนินงานตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาล รวมถึงการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการผ่านกิจกรรมการเผยแพร่เทคโนโลยีและการเชิดชูตัวอย่างที่ดี โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการหมุนวียนทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากประมาณ 2,700 ล้านบาทต่อปี
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ สรุปแผนการดำเนินงานในปี 2559 ที่เหลือว่าในช่วงเวลาที่เหลือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีแผนการผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายประชารัฐโดยจะมีการเชิญเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินงานได้แก่ ความร่วมมือ ในการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการให้บริการผ่านคูปองวิทย์เพื่อ OTOP การสนับสนุนทางการเงินของสถาบันทางการเงินเพื่อการต่อยอดขยายผลการดำเนินธุรกิจ การสนับสนุนด้านการพัฒนามาตรฐาน การสนับสนุนทางการตลาดและ E-Commerce ในช่วงเดือน กรกฎาคม 2559 และยังเดินหน้าสร้างความตระหนักผ่านกิจกรรมการเผยแพร่เทคโนโลยีและการเชิดชูตัวอย่างที่ดีอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีในงาน SMART SME Expo งาน Industrial Expo งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และงาน TISTR and Friends ตามลำดับ