เปิดเส้นทางท่องเที่ยว12 คลัสเตอร์รับแผนอีอีซี
อพท.3 เปิดผลเวทีระดมความคิดเห็นแผนศึกษาพัฒนาท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก รองรับแผนพัฒนา “อีอีซี” เตรียมดัน 12 คลัสเตอร์ท่องเที่ยวครอบคลุม 4 จังหวัดแบ่งออกเป็น 2 โซนรับท่องเที่ยวเทรนด์ใหม่ บี-เลเชอร์
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเทียวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า สำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 ( อพท.3 ) ได้ดำเนิน โครงการศึกษารูปแบบการบริหารการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวในเขตการพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวเดิมให้เป็นระบบคลัสเตอร์ด้านการท่องเที่ยวชุมชน โดยได้กำหนดขอบเขตของพื้นที่เพื่อการศึกษาครอบคลุม 4 จังหวัด 39 ชุมชน ในภาคตะวันออก
และที่ผ่านมาได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคประชาชน และสรุปแผนการพัฒนาเบื้องต้น แบ่งออกเป็น 2 โซน ประกอบด้วย 1. โซนจังหวัด ชลบุรี – ระยอง ให้เป็นพื้นที่ได้การท่องเที่ยว B-leisure (บี- เลเชอร์) ซึ่งเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวของกลุ่มธุรกิจ ที่ปัจจุบันคนทำงานในภาคธุรกิจจะแบ่งเวลาทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กันมากขึ้น 2. โซนจังหวัดจันทบุรี – ตราด เป็นพื้นที่การท่องเที่ยว Green Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
สำหรับแนวทางการศึกษาเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนในภาคตะวันออก ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในเชิงลึก ภายใต้การจัดทำโครงการแผนงานและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น ในแผนปฏิบัติการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาตามเส้นทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ท่าเทียบเรือ เป็นต้น ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบคลัสเตอร์ที่ส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวในท้องถิ่นของ 4 จังหวัด มากำหนดเส้นทางกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบเชื่อมโยงกัน สามารถแบ่งได้เป็น 12 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย
- ศูนย์การท่องเที่ยวทางทะเลนานาชาติ (International Coastal Tourism Hub) 2. เมืองตากอากาศคลาสสิคที่ทันสมัย (The Modern Classic Resort Town) 3. เกาะธรรมชาติที่ใกล้ที่สุดของคนเมือง (Natural Island of the urban) 4. วิถีชุมชนนิเวศ (Eco Community) 5. ศูนย์เรียนรู้ทางธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์ (Creative Nature based Outdoor Learning Center) 6. ย่านเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Cultural District) 7. เมืองมรดกทางประวัติศาสตร์ของชายฝั่งตะวันออก (Historical Heritage of the Eastern Coast) 8. หมู่เกาะสีเขียว (Green Islands) 9. วิถีตราด (Biodiversity of Trat) 10. ท่องเที่ยวชายแดนเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ Tourism) 11. พักผ่อนและผ่อนคลาย (Retreat) และ 12. แหล่งกินดีอยู่ดี (Gastronomy)
สำหรับแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นหนึ่งในแผนงานย่อยภายใต้แผนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแผนปฏิบัติในการดาเนินการในช่วงปี พ.ศ.2560 – 2564 ให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง สู่การท่องเที่ยวระดับโลกรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และกลุ่มเชิงสุขภาพ โดยมีพัทยา สัตหีบ และระยอง เป็นวงแหวนการท่องเที่ยวหลัก ขยายสู่ฉะเชิงเทราซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และขยายสู่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ประชาชนในพื้นที่ให้สูงขึ้น