“เผ่าภูมิ” หารือทวิภาคี ขุนคลังลักเซมเบิร์ก เชื่อม Fin Hub ทั้ง 2 ประเทศ

ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบหารือทวิภาคีกับ H.E. Gilles Roth รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเทศลักเซมเบิร์ก ในระหว่างการประชุม WB-IMF Spring Meetings เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) รวมถึงความร่วมมือระหว่างกันในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินระหว่างสองประเทศ
โดยทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตจำนงร่วมกันที่จะสานต่อความร่วมมือในระดับทวิภาคีผ่านกลไกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแลกเปลี่ยนนโยบาย กฎระเบียบ และการสนับสนุนด้านเทคนิค เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาศูนย์กลางทางการเงินของไทย
ลักเซมเบิร์กถือเป็น Financial Hub ชั้นนำของยุโรปและของโลก เป็นประตูสู่ภาคธุรกิจการเงินในยุโรป ในขณะที่ไทยไทยมีเป้าหมายที่จะกลายเป็นประตู่สู่อาเซียน โดยมีบทบาทสำคัญทั้งในตลาดกองทุนรวมระหว่างประเทศ การบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) และนวัตกรรมทางการเงิน และเปิดกว้างต่อผู้ประกอบการจากนานาประเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องว่าจะเป็นประโยชน์ยิ่งหากศูนย์กลางทางการเงินทั้งสองสามารถเชื่อมกันได้
นายเผ่าภูมิ ได้เน้นย้ำว่ารัฐบาลไทยต้องการผลักดันให้ไทยเป็น Financial Hub แห่งใหม่ของภูมิภาค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเงินไทยในเวทีโลก โดยยกระดับการกำกับดูแลตามมาตรฐานสากล และมีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน การพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับนวัตกรรมทางการเงินยุคใหม่

ร่าง พ.ร.บ.Fin Hub ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการ เปิดโอกาสให้นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศสามารถขออนุญาตประกอบธุรกิจทางการเงินจำนวน 8 ประเภท ได้แก่ 1.ธนาคารพาณิชย์ 2. บริการการชำระเงิน 3. หลักทรัพย์ 4. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5. สินทรัพย์ดิจิทัล 6. ประกันภัย 7. นายหน้าประกันภัยต่อ และ 8. ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่น เข้าทำธุรกิจใน Financial Hub นอกจากนี้ เพื่อพัฒนาการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจภายใต้ Financial Hub ให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากลและยังคงไว้ถึงความยืดหยุ่นในการกำกับดูแลซึ่งจะเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ร่าง พ.ร.บ. Financial Hub กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงาน OSA ขึ้นใหม่เพื่อให้บริการภาครัฐแบบครบวงจร (End to end) ทั้งการออกใบอนุญาต กำหนดสิทธิประโยชน์ และกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ Financial Hub ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. Financial Hub สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาใกล้เสร็จแล้ว และจะเข้าสู่การพิจารณารัฐสภาโดยทันที
นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายยังได้หารือและเห็นพ้องถึงการนำพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ของไทยเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก (LuxSE) ต่อจาก Sustainability bond (ESGLB35DA) ของไทย ที่ประสบความสำเร็จไปก่อนหน้านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “เผ่าภูมิ” มั่นใจ ไทยไม่ถูกลดเรตติ้ง