ศุลกากรจัดสัมมนาใหญ่

กรมศุลกากรจัดสัมมนา “สิทธิประโยชน์ Delivery” เปิดมิติใหม่ และส่งตรงความรู้สู่ผู้ประกอบการ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน
นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานในการเปิดโครงการสัมมนา “สิทธิประโยชน์ Delivery (Delivery for Tax Incentives)” ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ อาคารศูนย์ฝึกอบรมสถาบันวิทยาการศุลกากร กรมศุลกากรโดยมี นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมศุลกากร กล่าวต้อนรับ และนางสันธนี ไพรัตนาการ ผู้อำนวยการกองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร กล่าวรายงาน สำหรับการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ โดยมีการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ฯ ในรูปแบบ Onsite และ Online จากทั่วทุกภูมิภาค รวมจำนวนทั้งสิ้น 830 ท่าน

นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของกรมศุลกากรในการอำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ของประเทศ รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางศุลกากรและข้อมูลทางการค้า ซึ่งกองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรได้ดำเนินการจัดสัมมนาเพื่อสนับสนุนพันธกิจดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในวันนี้ กรมศุลกากรได้จัดโครงการสัมมนา“สิทธิประโยชน์ Delivery (Delivery for Tax Incentives)” ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของกรมศุลกากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ภายใต้แนวคิด “Co-redesigning tax incentives for sustainable growth”

สิทธิประโยชน์มิติใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน เน้นให้มีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สร้างเครือข่ายเพื่อสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน อันก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม เป็นการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการส่งออก และสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดการค้าโลก อันเป็นการนำไปสู่การเพิ่มมูลค่า ทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง


ทั้งนี้ การสัมมนาได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และโดยมีการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ฯ ในรูปแบบ Onsite และ Online จากทั่วทุกภูมิภาค รวมจำนวนทั้งสิ้น 830 ท่าน โดยการจัดสัมมนาแบ่งเป็นสองภาค ดังนี้ ภาคเช้าจะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรเกี่ยวกับ คลังสินค้าทัณฑ์บน เขตปลอดอากร การคืนอากรเพื่อการส่งออกตามาตรา 29 และการชดเชยค่าภาษีอากร นอกจากนี้ กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรได้เปิดตัวระบบ “e-Tax Submission” ซึ่งเป็นระบบรับคำขออนุญาตจัดตั้ง คำขอเปิดดำเนินการ และคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อมูลคลังสินค้าทัณฑ์บน เขตปลอดอากรและการประกอบกิจการในเขตปลอดอากร ทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ ลดต้นทุน และระยะเวลาในการมาติดต่อ ตลอดจนลดปัญหาในยื่นคำขอที่ไม่ถูกต้อง และในภาคบ่ายเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โดยแบ่งเป็น 4 ห้อง ตามสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรในแต่ละด้าน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร เปิดรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และหาแนวทางการดำเนินการร่วมกัน อันจะช่วยในการพัฒนา สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรให้มีความเหมาะสมและตรงตามความต้องการกับทุกฝ่าย ภายใต้แนวคิดใหม่ “Working together for a better tomorrow“
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า การสัมมนาในวันนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคส่วน ทั้งในการรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี กฎหมายศุลกากร ระเบียบในการดำเนินธุรกิจ และการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเป็นเวทีให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการร่วมกัน อันจะช่วยให้การพัฒนาสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร มีความเหมาะสมและตรงตามความต้องการของภาคเอกชนได้มากยิ่งขึ้น