ธอส. คว้า 6 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2566
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี มอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2566
ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “รัฐวิสาหกิจสร้างสรรค์พลังไทยสู่สากล ENHANCING THAINESS TOWARDS GLOBAL OPPORTUNITIES” ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในครั้งนี้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้นจำนวน 6 รางวัล ประกอบด้วย 1. รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น (เกียรติยศ) 2. รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น 3. รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน 4. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรมดีเด่น 5. รางวัลบริการดีเด่น และ 6. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ชมเชย โดยมีนายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธอส. และคณะผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร ร่วมรับรางวัล
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2566 ที่ ธอส. ได้รับทั้ง 6 รางวัล นั้น นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของธอส. สะท้อนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของคณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหารระดับสูง และผู้ปฏิบัติงานของ ธอส. กว่า 5,000 ชีวิต ที่ได้ดำเนินงาน ตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้สูงถึง 253,860 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 235,480 ล้านบาท โดยปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อลดความเหลือมล้ำทางสังคมสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และปานกลางวงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 121,308 ราย สูงขึ้นกว่าเป้าหมาย 3.84% อีกทั้งยังบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้สามารถผ่อนชำระเงินงวดได้ตามความเหมาะสมต่อเนื่องจากปี 2566 ตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงการคลัง และการแก้หนี้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Responsible Lending
ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่าน “มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567” โดย ณ วันที่ 30 มกราคม 2567 มีลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 4,789 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 5,553.06 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อให้การบริการลูกค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านระบบ GHB Digital Appraisal ยกระดับการให้บริการประเมินราคาทรัพย์ที่ลูกค้าประสงค์จะซื้อและมาขอสินเชื่อกับธนาคาร เพื่อประมาณการวงเงินอนุมัติเบื้องต้นให้กับลูกค้าได้รวดเร็ว รวมถึงการยกระดับการให้บริการลงนามสัญญากู้เงิน โดยเพิ่มช่องทางการให้บริการลงนามสัญญากู้เงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ GHB e-Contract แทนการใช้กระดาษ เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น นำมาซึ่งรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2566 ทั้ง 6 รางวัล โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น (เกียรติยศ) เป็นรางวัลที่พิจารณาจากองค์กรที่มีคะแนนประเมินผลรัฐวิสาหกิจภาพรวม ปี 2565 สูงสุด 5 อันดับแรก และสามารถรักษามาตรฐานการดำเนินงานได้ดีอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 3 สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารสามารถบริหารจัดการองค์กร สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ธนาคารก้าวสู่การเติบโตได้อย่างยั่งยืน
2. รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น มอบให้กับองค์กรที่ได้รับรางวัลบริหารจัดการองค์กรดีเด่น และมีคะแนนประเมินผลรัฐวิสาหกิจภาพรวม ปี 2565 ตั้งแต่ 4.5000 ขึ้นไป โดยในปี 2566 สคร. ได้พิจารณามอบรางวัลดังกล่าว ให้แก่ นายฉัตรชัย ศิริไล อดีตกรรมการผู้จัดการ ธอส. โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานในช่วงที่บริหารงาน ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธอส. ซึ่งแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ และนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับการบริหารจัดการองค์กร เพื่อมุ่งสู่การเป็นธนาคารยั่งยืน
3. รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน ได้รับจากการดำเนินนโยบายการพัฒนาความยั่งยืนเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจที่นำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สะท้อนจากผลลัพธ์ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
4. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรมดีเด่น จากโครงการ “Digital Loan Process” ที่ยกระดับกระบวนการสินเชื่อ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงานแบบ End to End Process ตลอดเส้นทางการเดินทางของลูกค้า (Customer Journey) นับเป็นการปรับปรุงกระบวนการสินเชื่อให้มีความรวดเร็ว ทันสมัย ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งรองรับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สามารถปรับตัวทันต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
5. รางวัลบริการดีเด่น จากโครงการ “การบริการเพื่อทำให้คนไทยมีบ้าน และรักษาบ้านให้คนไทย” (Digital Housing Solution for All Thai) มุ่งเน้นการให้บริการด้านสินเชื่อที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้าใหม่ และลูกค้าเดิมที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ ผ่านการยกระดับและปรับเปลี่ยนคุณภาพการให้บริการ และการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ ทั้งในมิติของ People Process และ Technology & Innovation ที่ครอบคลุมลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ ผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับกระบวนการให้บริการตลอด Value Chain ของธนาคาร อาทิ Application : GHB ALL GEN, GHB ALL BFRIEND และ GHB ALL HOME เป็นต้น
6. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ชมเชย จากแนวคิดเรื่อง “ระบบการบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อพลัส” ที่ ธอส. พัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการกลุ่มลูกค้าที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) และลูกหนี้ NPL ผ่านระบบการวิเคราะห์ในเชิง Cognitive Analytics โดยใช้ Machine Learning ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อ และใช้หลักการของ ECRS (Eliminate, Combine, Rearrange and Simplify) เพื่อปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงาน ลดความซ้ำซ้อน ตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้ใช้งานทั้งด้านคุณภาพข้อมูลและสารสนเทศ แม่นยำ เชื่อถือได้ และนำไปใช้สนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารได้อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ สคร. ได้จัดให้มีงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นตั้งแต่ปี 2548 เพื่อประกาศให้สาธารณชนได้ทราบถึงผล การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่ดีเด่นในด้านต่าง ๆ พร้อมกับเป็นกำลังใจให้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่งที่ทำภารกิจสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป โดยงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2566 จัดขึ้น ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล