ส.อ.ท. – สมอ. ผนึกกำลังผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้รับรีไซเคิล
ส.อ.ท. – สมอ. ผนึกกำลังผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้รับรีไซเคิล ขับเคลื่อน ขวดพลาสติก PET เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดพิธีแสดงเจตนารมณ์องค์กรขับเคลื่อนการปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการขวดเครื่องดื่มจากพลาสติกพอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต (PET) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีองค์กรผู้ร่วมขับเคลื่อนการปฏิบัติตามข้อตกลงฯ ประกอบด้วยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดง พิธีกร นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมแสดงเจตนารมณ์ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมในมุมมองของผู้บริโภค ณ ห้องประชุม 200 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
ข้อตกลงร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop Agreement) เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดทำมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยคณะทำงาน BCG Model ได้นำแนวทางนี้ จัดประชุมจัดทำข้อตกลงร่วมระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานขวด PET ประกอบด้วยผู้ผลิตเม็ดพลาสติก ผู้แปรรูป เจ้าของสินค้า (Brand Owner) กลุ่มผู้จัดเก็บขยะ ธุรกิจรีไซเคิล หน่วยงานราชการ องค์กรวิชาการ และสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาขวดเครื่องดื่ม PET สี ที่มีแนวโน้มจะถูกละเลย ไม่ถูกเก็บเข้าสู่ระบบรีไซเคิล เนื่องจากขวดเครื่องดื่ม PET สี รีไซเคิลได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่ำ ส่งผลต่อราคารับซื้อ
ข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจ พบว่า ขวดเครื่องดื่ม PET สี มีราคา 1 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ขวด PET ใส มีมูลค่า 6 – 7.50 บาท/กิโลกรัม จึงส่งผลต่อแรงจูงใจในการรับซื้อและการเก็บรวบรวม และอาจจะไม่คุ้มค่าเมื่อรวมกับต้นทุนการขนส่ง และนำไปสู่การประกาศคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบและรับรอง โดยได้กำหนดข้อตกลงร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการขวดเครื่องดื่ม PET ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบการได้รับทราบ และเป็นแนวปฏิบัติโดยทั่วกัน โดยมีแนวคิดที่สำคัญ คือ “การคงความใสและไม่มีสีของขวดพลาสติก PET เพื่อคงมูลค่าของพลาสติก PET ให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ในการเก็บกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีความยินดีที่ได้เห็นความสำเร็จของการดำเนินงานการจัดทำข้อตกลงร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop Agreement) ขวดเครื่องดื่ม PET ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ส.อ.ท. ได้นำแนวทางการจัดทำ Workshop Agreement สมอ. มาดำเนินงาน โดยรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับขวดเครื่องดื่ม PET เพื่อแก้ปัญหาและปิดช่องว่างของการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค ให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้มากยิ่งขึ้น และเป็นส่วนสำคัญในขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของประเทศ ซึ่งแนวคิด Circular Economy นี้ เป็นแนวคิดที่ ส.อ.ท. ส่งเสริมและผลักดันไปยังสมาชิกของ ส.อ.ท. กว่า 15,000 ราย อย่างต่อเนื่อง ผ่าน 45 กลุ่มอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด สายงาน และสถาบันภายใต้ ส.อ.ท. ตัวอย่างกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ โครงการนำร่อง Extended Producer Responsibility (EPR) หรือโครงการ PackBack การศึกษาการทำถนนจากขยะพลาสติก (Plastic Road) การจัดการขยะภายใต้โครงการ MEGA City ซึ่งดำเนินงานที่จังหวัดระยอง และพื้นที่เขตคลองเตย กรุงเทพฯ เป็นต้น
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ข้อตกลงร่วมฯ เรื่อง “ขวดเครื่องดื่ม จากพลาสติก PET ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” หรือข้อตกลงร่วม 4002-2565 นี้ ใช้กลไกการจัดทำในรูปแบบข้อตกลงร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเป็นรูปแบบที่สามารถตอบสนองต่อความจำเป็นเร่งด่วนในสถานการณ์ปัจจุบันได้ โดยข้อตกลงร่วมฯ นี้ จะเป็นแนวทางแก่ผู้ผลิตขวดเครื่องดื่มจากพลาสติก PET เพื่อให้ผลิตขวดเครื่องดื่มจากพลาสติก PET ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ โดย สมอ. คาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือและกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนและการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม สู่การลดการใช้ทรัพยากร การลดปริมาณของเสียและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนทำให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับภูมิภาคและสากล
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า Workshop Agreement ฉบับนี้ จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเสริมภารกิจงานของกรมฯ และถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญในการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการดำเนินการที่ช่วยส่งเสริมให้มีการดึงขวด PET กลับมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ว่าภายในปี 2570 ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) จะต้องไม่พบในสถานที่ฝังกลบขยะและถูกนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิล 100%
นายธงชัย ศิริธร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า สมาคมฯ เป็นศูนย์รวมผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ปัจจุบันมีบริษัทสมาชิกทั้งสิ้น 47 บริษัท ซึ่งสมาคมฯ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงการสร้างผลกำไร ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยสมาคมฯ ยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้สมาชิกของสมาคมฯ และผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เอื้อต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ การออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Design) ภายใต้รายละเอียดตามข้อตกลงร่วมนี้ และสมาคมฯ ยังสนับสนุนให้สมาชิกของสมาคมฯ พิจารณาการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกแปรใช้ใหม่ (rPET) ร่วมด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกของสมาคมฯ บางรายเริ่มดำเนินการแล้ว
นายชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กล่าวว่า สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เป็นองค์กรผู้แทนของร้านรับซื้อของเก่าและซาเล้งรับซื้อของเก่าทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และรายย่อย ซึ่งมีจำนวนกว่า 30,000 ราย ทั่วประเทศ โดยสมาคมฯ ยินดีให้การสนับสนุนและยืนยันเจตนารมณ์ ในการส่งเสริมการผลิตและการใช้ขวดเครื่องดื่มจากพลาสติก PET ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ยังคงคุณค่าของขวดเครื่องดื่มไว้หลังการบริโภค และเป็นประโยชน์ต่อวงการรีไซเคิลได้มากยิ่งขึ้น โดยข้อตกลงร่วมฯ นี้ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการส่งเสริมภารกิจของสมาคมฯ ในการร่วมจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางก่อน เพื่อลดปริมาณขยะที่จะหลุดลอดออกไปสู่สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ต่อไป
นายวิรัช เกลียวปฏินนท์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิตเม็ดพลาสติก ผู้แปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับพลาสติก ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยข้อตกลงร่วมนี้ จะเป็นการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ และตอบสนองความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิต หรือมีส่วนผสมจากพลาสติกรีไซเคิลที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต กลุ่มฯ พลาสติก ยืนยันเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการผลิตและการใช้ขวดเครื่องดื่มจากพลาสติก PET ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนแนวคิด และการดำเนินงานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เป็นแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และพร้อมสนับสนุน ส่งเสริมให้สมาชิก มีการผลิตและใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสื่อสารไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อขยายแนวคิดนี้ให้ครอบคลุมทั้งวงจรผลิตภัณฑ์
นางสาวเข็มอัปสร สิริสุขะ (เชอรี่) นักแสดง นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในมุมมองผู้บริโภค และผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม เห็นว่าประเทศไทยประสบกับปัญหาการจัดการขยะน้อยกว่า 10% ของขยะพลาสติกที่สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้ ซึ่งหมายความว่าต้องเป็นขยะพลาสติกที่มีมูลค่าเท่านั้น จึงจะมีคนเก็บและนำส่งต่อไปได้ ส่วนตัวจึงมองว่าขวดพลาสติก PET เมื่อกลายเป็นขยะพลาสติกแล้ว สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากกว่าถุงและแก้วพลาสติก ทางบริษัทธุรกิจเพื่อสังคมของเราจึงเลือกขวดพลาสติกในการบรรจุข้าวแทนถุงพลาสติกที่ใช้กันอยู่ทั่วไป
ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พร้อมเดินหน้าสร้างการรับรู้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของประเทศ ให้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม และร่วมแสดงเจตนารมณ์ถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจบนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม ตลอดจนเสริมสร้างความตระหนักรู้และความรับผิดชอบร่วมกันนี้ไปตลอดของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ผู้ผลิตไปถึงผู้บริโภค และสามารถหมุนเวียนทรัพยากรที่มีคุณค่านี้ กลับมาใช้ใหม่ได้อย่างไม่รู้จบ