กนอ.สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการในนิคมฯ ลดก๊าซเรือนกระจก

กนอ.สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการในนิคมฯ ลดก๊าซเรือนกระจก

“กนอ.รุด! สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการในนิคมฯ ลดก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ให้ได้ตามแผน 2.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) ภายในปี ’68 โดยมี บริษัท ไพร์ม อินดัสเทรียล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PIE) บริษัทลูก กนอ. ดำเนินการส่งเสริมให้โรงงานในนิคมฯ มีการใช้พลังงานทดแทน ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร อุปกรณ์อนุรักษ์พลังงาน ตอบโจทย์การนำไปสู่นิคมอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industrial Estate) ให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ”

นางสาวอิศริยา แสงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และนายสุทธิพงษ์ ดำรงค์สกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ.จี.เอส.จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัญธานี เปิดเผยว่า ตามนโยบายของผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นายวีริศ อัมระปาล ที่กำหนดนโยบายเพื่อเป็นผู้นำในการลดก๊าซเรือนกระจก สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ นิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งการให้บริการระบบสาธารณูปโภคของนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง โดยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวของประเทศ รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals ; SDGs) ในการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในการพัฒนาและยกระดับความรู้ความเข้าใจของบุคลากรในด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก การดำเนินงานภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักประเมินและรับรองโครงการ สำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
ด้วยประการดังกล่าว กนอ.ได้จัดให้มีอบรมสัมมนาแก่ผู้ประกอบการ เพื่อการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกในนิคมอุตสาหกรรมขึ้น โดยมีบริษัท ไพร์ม อินดัสเทรียล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PIE) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กนอ. ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุน การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านพลังงาน เพื่อให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม มีการใช้พลังงานทดแทน และปรับเปลี่ยนเครื่องจักร อุปกรณ์ เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ตอบโจทย์การนำไปสู่นิคมอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industrial Estate) ส่งผลให้ กนอ. บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

“การอบรมสัมมนาในครั้งนี้มีผู้บริหาร และตัวแทนบริษัทฯ ต่าง ๆ ที่ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางชัน และนิคมอุตสาหกรรมอัญธานี โดยเข้าร่วมรับฟังกว่า 50 คน คาดว่าการสัมมนาครั้งนี้จะสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการปรับตัวยกระดับความรู้ความเข้าใจให้บุคลากรในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามนโยบายของ กนอ.”

นางลัดดาวัลย์ อ่อนกำปัง ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชัน นายเกียรติชัย ภักดีรอด ผู้จัดการ บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด (หน่วยงานบางชัน) กล่าวว่า นิคมฯบางชัน ได้ดำเนินการตามนโยบายของ นาย วีริศ อัมระปาล ผู้ว่า กนอ. ในการลดก๊าซเรือนกระจก ให้บรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการในนิคมฯ โดยนิคมฯบางชันได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและตามที่ กนอ.ได้ตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนิคมฯ ทั่วประเทศให้ได้ 2.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) ภายใน 5 ปี (2564-2568) หรือปีละ 500,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) นั้น นิคมฯบางชัน นิคมฯ บางชัน ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco- Excellence ได้ดำเนินงานผ่านแผนงานการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก อาทิ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนอาคารสำนักงานนิคม การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและของเสียอุตสาหกรรมนำกลับมาใหม่ การสนับสนุนให้โรงงานเก็บสถิติก๊าซเรือนกระจกเบื้องต้นและขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) รวมทั้งการสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แก่ชุมชนโดยรอบนิคมฯ ทั้งยังมีโครงการสนับสนุนส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และโครงการส่งเสริมสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ที่ดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) อีกด้วย