EXIM BANK จับมือกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ ปปง.
ยกระดับการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชนไทยเทียบเท่าสากลเพื่อป้องกันและปราบปรามการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
นาย รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ และกรรมการ EXIM BANK และนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction : WMD) เพื่อใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานร่วมมือกันอย่างมีบูรณาการ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนานาชาติต่อการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลเพื่อป้องกันและปราบปรามการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของประเทศไทย ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566
ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากรายงานผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทําลายล้างสูง (Anti-Money Laundering, Combating the Financing of Terrorism and the Proliferation of Weapons of Mass Destruction : AML/CFT/WMD) ของประเทศไทยในปี 2560 ระบุว่า ประเทศไทยได้รับผลการประเมินด้านประสิทธิผลเรื่องการกำกับ ตรวจสอบ และการดำเนินมาตรการเพื่อป้องกัน WMD ในระดับต่ำ ประเทศไทยจึงมีเป้าหมายที่จะยกระดับผลการประเมินด้านดังกล่าวซึ่งจะเกิดขึ้นครั้งต่อไปในปี 2569 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น
ในการนี้ EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จะร่วมมืออย่างมีบูรณาการกับ คต. และ ปปง. เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและให้ข้อมูลข่าวสารแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทยให้กำหนดและดำเนินตามนโยบายและคู่มือการปฏิบัติงานด้าน AML/CFT/WMD อย่างเคร่งครัด โดยตระหนักถึงภัยร้ายแรงของปัญหาดังกล่าว มีแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงภายในองค์กรที่ชัดเจนและนำไปสู่การปฏิบัติจริง รวมทั้งทบทวนและปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการควบคุมการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) เนื่องจากปัจจุบันอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลมีปริมาณลดลงและกำลังถูกแทนที่ด้วยอาวุธทันสมัยที่ดัดแปลงมาจากสิ่งที่พลเรือนใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้การควบคุมอาวุธระหว่างประเทศถูกรวมเข้ากับการควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ นานาประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
จึงต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมและป้องกันการนำเอาวัสดุที่ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพมาใช้เป็นอาวุธในการก่อการร้ายมากขึ้น อาทิ การนำส่วนประกอบของปุ๋ยมาใช้เป็นวัตถุในการผลิตระเบิด การใช้แก๊สบางชนิดในการก่อวินาศกรรม และการนำเอาวัสดุไทเทเนียมในหัวไม้กอล์ฟมาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตจรวดหรือขีปนาวุธ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนานาชาติต่อภาครัฐและภาคเอกชนของไทย ทำให้การดำเนินธุรกิจและภารกิจขององค์กรนำไปสู่การส่งเสริมการค้าการลงทุน การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและโลกโดยรวมอย่างแท้จริง