ดีพร้อม ติดอาวุธอุตฯ สร้างสรรค์ ขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจยุคใหม่
พร้อมดึงสาขาภาพยนตร์สู่ Soft Power คาดกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 250 ลบ.
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม กางแผนยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การเป็น Soft Power หลังการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2022 ประเทศไทยติดอันดับโลก เร่งเดินเกมดึงสาขาภาพยนตร์ บันเทิง และละคร สร้างความแตกต่างผลิตเนื้อหา (Content) ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค เกิดกระแสความนิยม และเกิดโมเดลธุรกิจที่สะท้อนภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศ อันนำไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) อย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไม่น้อยกว่า 250 กิจการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ไม่น้อยกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ และคาดว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกระแส Soft Power ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมากผ่านหลากหลายภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมบันเทิง อาหาร แฟชั่น ศิลปะการแสดง และการท่องเที่ยว นำมาซึ่งวลี “A Must Item” ของชาวต่างชาติเมื่อมาเยือนไทย อาทิ กางเกงช้าง ผัดไทย ข้าวเหนียวมะม่วง มวยไทย และจากการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2022 ประเทศไทยจัดอยู่อันดับที่ 35 จาก 120 ประเทศทั่วโลก และอันดับที่ 6 ในเอเชีย ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามและความสำเร็จก้าวแรกในการผลักดัน Soft Power ของไทย โดยกลไกขับเคลื่อนสำคัญ คือ การใช้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และ ‘เทคโนโลยี’ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาให้พัฒนาทั้งรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้คน ดังนั้น ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้กล้าคิดกล้าดัดแปลงความเชื่อ เกิดเป็นโมเดลธุรกิจที่สะท้อนภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศ พาอัตลักษณ์ท้องถิ่นและของดีของไทยไปสู่ระดับโลก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เล็งเห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจจากกระแส Soft Power ดังกล่าว ที่จะสามารถยกระดับศักยภาพภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่จะสร้างความแตกต่างจนกลายเป็นกระแสนิยม จึงมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เร่งพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ภายใต้นโยบาย ดีพร้อมโต ผ่านกลไก โตไว (Speed) ที่เน้นให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อสร้างความโดดเด่นและดึงดูดให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ
นายใบน้อย กล่าวต่อว่า ในปี 2566 ดีพร้อม ได้เดินหน้ายกระดับศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะบุคลากร การยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ การนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และบริการ การผลิตเนื้อหา (Content) ที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในสาขาบันเทิง ภาพยนตร์ และละคร ซึ่งดีพร้อมได้ดำเนินโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมดีพร้อมผ่านบทละครเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาทักษะให้แก่นักเขียนบทละครหรือผู้ที่สนใจให้สามารถสอดแทรกเนื้อหาสะท้อนให้เกิดการสร้าง Soft Power และกระแสนิยม อีกทั้ง ยังเกิดการกระจายรายได้ไปยังผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ อาทิ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และผลักดันให้เกิดการบริโภคและสร้างความต้องการให้สินค้าไทย ซึ่งจะสามารถลดปัญหาด้านผลิตผลล้นตลาด เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคตต่อไป
ขณะเดียวกัน ดีพร้อม ยังได้ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์แบบ Next Gen ประกอบด้วย 1)การส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจเชิงสร้างสรรค์เตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการ SME ยุคใหม่ 2)การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และบริการ เช่น การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม (DIPROM Thailand Textiles Tag) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (DIPROM Product Design) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะสร้างสรรค์วิถีใหม่ (The Smart DIPROM Packaging : Smart DIPROM Pack) เป็นต้น 3) การเชื่อมโยงเครือข่ายดีพร้อมและสนับสนุนปัจจัยเอื้ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาทิ การสร้างเครือข่ายนักออกแบบ การเชื่อมโยงเครือข่ายศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (DIPROM Thai-IDC) การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย
นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังมีการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมไปพร้อมกัน เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Up-Cycling Up-Creation in Circular Economy) โดยการผลิต ออกแบบ และแปรสภาพวัสดุเหลือใช้จากการอุปโภคและบริโภคในท้องถิ่น และวัสดุรีไซเคิลอื่น ๆ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการต่อยอด พัฒนาวัสดุ และออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ (DIPROM Cross Material Design) เพื่อส่งเสริมและพัฒนา SME ให้มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์และการออกแบบร่วมกันจนสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ระหว่างธุรกิจ ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและตอบสนองความต้องการของตลาดได้
ทั้งนี้ ในปี 2566 ดีพร้อม มีความมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะบุคลากรภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และบริการทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก การใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายและสร้างโอกาสทางการตลาดเพื่อการเติบโตที่ก้าวกระโดดและยั่งยืนสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ โดยตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมและพัฒนาผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จำนวนไม่น้อยกว่า 250 กิจการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ไม่น้อยกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ และคาดว่าจะสามรถกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท นายใบน้อย กล่าวทิ้งท้าย