ASIAN ปักธงปี 66 ยอดขายกลุ่มโตกว่า 15%
“บมจ. เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น หรือ ASIAN” ชี้อาหารสัตว์เลี้ยงยังคงมีดีมานด์เติบโตต่อเนื่อง แม้จะมีการปรับปริมาณการสต๊อคสินค้าของลูกค้าในตลาดสหรัฐอเมริกาแต่คาดเป็นแค่ช่วงสั้นๆ ส่วนอาหารสัตว์น้ำคาดปีนี้มีการฟื้นตัวจากปีก่อน ปักธงปี 2566 ยอดขายรวมเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อน ทุ่มงบลงทุนไว้ที่ 1,371 ลบ. ขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง คลังสินค้าอัตโนมัติ ติดตั้งโซลาร์รูฟลดต้นทุน รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
นายเอกกมล ประสพผลสุจริต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ประกอบธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง อาหารสัตว์น้ำ ทูน่า และอาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า เปิดเผยว่า ประเมินภาพรวมธุรกิจปี 2566 มองว่ายังคงมีการเติบโต โดยเฉพาะในส่วนของอาหารสัตว์เลี้ยง ทั้งในส่วนของตลาดต่างประเทศ และการขยายตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงแบรนด์ของบริษัทเอง รวมทั้งอาหารสัตว์น้ำที่ในปีก่อนหน้ามีปัญหาคุณภาพอาหารและการปรับโครงสร้างการจัดการ ได้มีการดำเนินการแล้วคาดว่าปี 2566 นี้จะฟื้นตัวกลับไประดับเดียวกับช่วงปี 2564 ในขณะที่อาหารแช่เยือกแข็งอาจมีชะลอตัวลงบ้างในปี 2566 เนื่องจากดีมานด์ตลาดสหรัฐอเมริการในกลุ่มสินค้า VAP ลดลง และกำลังซื้อของลูกค้าในตลาดยุโรป
“เป้าหมายปี 66 ผลประกอบการยังคงการเติบโตได้ ซึ่งบริษัทฯ วางเป้าหมายการเติบโตของยอดขายรวมไว้ที่ไม่น้อยกว่า 15% จากปีก่อน แม้ว่าสัญญาณชะลอตัวในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จากการที่กำลังซื้อทั่วโลกจะยังได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และความขัดแย้งระหว่างประเทศ ตลาดสหรัฐอเมริกาและตลาดยุโรปยังคงเป็นตลาดหลักของบริษัทฯ โดยคาดว่ากำลังซื้อจะเริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 66” นายเอกกมล กล่าว
โดยธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2566 บริษัทฯ ยังมีออเดอร์จากลูกค้าต่างประเทศ และบริษัทฯ มีแผนเจาะตลาดลูกค้าในกลุ่ม Private Label เพิ่มเติม รวมทั้งการทำการตลาดสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงในแบรนด์ของบริษัทเองทั้ง 3 แบรนด์ คือ Monchou, Hajiko และ Pro ซึ่งมองว่าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เข้ามาช่วยกระตุ้นยอดขายเพิ่มเติมในปี 2566 คาดว่าธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงจะเติบโตได้มากกว่า 15% จากปีก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกยังมีการเติบโตต่อเนื่อง
ส่วนธุรกิจทูน่านั้น มองว่าการเติบโตยังคงมีให้เห็นแต่อาจไม่หวือหวามากนัก เนื่องจากขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างเล็กและมีกำไรขั้นต้นไม่สูงมาก การเติบโตส่วนใหญ่เติบโตจากมูลค่าสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนปลาทูน่าที่ยังมีแนวโน้มสูง โดยคาดว่าจะโตได้ 12% จากปีก่อน แม้ต้นทุนจะมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่ความต้องการยังมีต่อเนื่องโดยเฉพาะจากตลาดประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง
ขณะที่ธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง ในตลาดสหรัฐอเมริกา อาจชะลอตัวในปี 2566 จากสินค้าคงค้างในช่วงปีก่อนที่ต้องเร่งระบาย และดีมานด์ที่ชะลอตัว แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยอดขายจะกลับมาเป็นปกติ ส่วนตลาดยุโรปมองว่าจะทรงตัว แต่เชื่อว่าดีมานด์การบริโภคยังคงมีอยู่เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัย 4
ทั้งนี้ บริษัทฯ มองว่ายังคงต้องจับตารอดูสถานการณ์ทั้ง 2 ตลาดหลักดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องของความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่ม Value Added Product (VAP) ของตลาดสหรัฐฯ ที่อาจชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งตลาดยุโรปที่ชะลอตัวลงจากต้นทุนพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ และความต้องการของกลุ่ม HORECA (Hotel , Restaurant and Catering) ที่ยังจำกัด
ด้านธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ จากปัญหาคุณภาพอาหารสัตว์น้ำและการปรับโครงสร้างธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้สัดส่วนยอดขายและรายได้จากอาหารสัตว์น้ำลดลง แต่คาดว่าในปี 2566 จะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับช่วงปี 2564 เนื่องจากการปรับปรุงคุณภาพอาหารสัตว์น้ำดีขึ้น สามารถกลับมาสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรเพิ่มขึ้น
สำหรับแผนการลงทุนในปี 2566 นี้ บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 1,371 ล้านบาท สำหรับใช้3 ธุรกิจหลัก คือ การขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงอีก 6,500 ตัน การสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติแห่งที่ 2 จำนวน 1,173 ล้านบาท การปรับปรุงประสิทธิภาพของสายการผลิตอาหารสัตว์น้ำจำนวน 54 ล้านบาท และลงทุนโครงการติดตั้งอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็งราว 144 ล้านบาท