ดีพร้อม – เดลต้า เร่งเพิ่มเอสเคิร์ฟสตาร์ทอัพ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เร่งปั้นสตาร์ทอัพรับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S – Curve ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเชื่อมต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม จากปัจจุบันที่หลาย ๆ ธุรกิจยังคงมีการนำเข้าเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ พร้อมร่วมกับ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เดินหน้าสานต่อโปรเจกต์ DIPROM x DELTA ANGEL FUND 2023 ด้วยกระบวนการ Acceleration Program ซึ่งเป็นการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการในกลุ่ม S-Curve ด้วยการเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งส่งต่อนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปยังภาคอุตสาหกรรม
โดยตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 100 ราย สามารถจัดตั้งธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 10% และคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 113 ล้านบาท ภายใต้วงเงินสนับสนุนกว่า 6 ล้านบาท
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) กล่าวว่า จากนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นการพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายหรือ S – Curve ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ด้วยการสร้างมูลค่าที่สูงขึ้นให้กับผลิตภัณฑ์ บริการ แบรนด์ธุรกิจ อันจะทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นทางด้านอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ในระดับที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้การพัฒนาดังกล่าวยังพบว่าการปรับกระบวนการของผู้ประกอบการหลายรายยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงจากต่างชาติ ซึ่งทำให้ต้นทุนในด้านเครื่องจักรงานวิจัย และเครื่องมืออันทันสมัยที่ใช้ในการผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรักษาความสมดุลของประเด็นดังกล่าวด้วยการดึงเทคโนโลยี – นวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศมาต่อยอดหรือพัฒนาให้ตรงบริบทกับภาคอุตสาหกรรม และสนับสนุนให้เครื่องมืออันทันสมัยเหล่านี้เติบโตได้ควบคู่กัน
“นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเติบโตของสตาร์ทอัพ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยี นวัตกรรม และโซลูชันอันทันสมัย สามารถนำมาใช้ได้จริงกับหลาย ๆ ภาคส่วนทางอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นในมิติทางการผลิต การบริการ การตลาด การดูแลหลังการขาย ฯลฯ และในบางรายยังพบว่ามีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) เช่น ระบบอัตโนมัติ (AI) เทคโนโลยีเสมือนจริง การเชื่อมอินเทอร์เน็ตกับหลากสรรพสิ่งในโรงงาน (IoT) ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งถือว่าตอบโจทย์ กับการแข่งขันของหลาย ๆ ธุรกิจ และช่วยเติมเต็มระบบนิเวศทางอุตสาหกรรมขั้นสูงได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามก็ยังคงพบว่ากลุ่มสตาร์ทอัพเหล่านี้ยังขาดพื้นที่และปัจจัยสนับสนุนในการเติบโต จึงจำเป็นอย่างมากที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องเร่งผลักดันให้กลุ่มเหล่านี้โตได้ เพื่อเข้ามาช่วยเติมเต็มระบบเศรษฐกิจ และทำให้ภาคธุรกิจมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น”
นายใบน้อย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในมิติที่ 3 การตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ซึ่งจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งชุมชน สังคม และอุตสาหกรรมเติบโตไปด้วยกัน โดยเฉพาะการสร้างโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ดีพร้อม จึงได้สานต่อโครงการ DIPROM x DELTA ANGEL FUND ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ด้วยกระบวนการ Acceleration Program หรือการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ – บริการในกลุ่ม S-curve ร่วมกับ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของไทย ร่วมกันเตรียมความพร้อมทางธุรกิจ การจัดแฮกกาธอน (Hackathon) เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีในระยะเวลาจำกัด การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อยอดธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งส่งต่อนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปยังภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการ ซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มการแพทย์ครบวงจร การผลิตแห่งอนาคต (Industry Tech) อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีบริการ อุตสาหกรรมดิจิทัล เทคโนโลยีการเงิน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เทคโนโลยีการท่องเที่ยว การบินและโลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยีเมือง และอุตสาหกรรมกลุ่มธุรกิจภาครัฐและการศึกษา
“โครงการดังกล่าวสะท้อนถึงเป้าหมายของดีพร้อม และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาประเทศ โดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดีจากสตาร์ทอัพมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 300 ทีม ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ Angel Fund ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ – บริการใหม่ สามารถจัดตั้งธุรกิจได้จริง และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้กว่า 650 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสำคัญในปีนี้ดีพร้อมและเดลต้าต้องการกระตุ้นให้เกิดกลุ่มธุรกิจที่สอดคล้อง กับเทรนด์โลกปัจจุบัน ยกระดับสินค้า – บริการสตาร์ทอัพให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการกระตุ้นให้เกิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG พร้อมลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยโครงการนี้ยังเปิดกว้างสำหรับกลุ่ม SMEs ที่ต้องการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาเป็นสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะกลุ่มที่ผลิตสินค้านวัตกรรม กลุ่มที่ต้องการต่อยอดงานวิจัยให้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ รวมทั้งการปรับธุรกิจให้เป็น Tech Based Company หรือผู้ที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนทุกกระบวนการในธุรกิจ ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 100 ราย สามารถจัดตั้งธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 10% และคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 113 ล้านบาท ภายใต้วงเงินสนับสนุนจาก ดีพร้อม และ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กว่า 6 ล้านบาท”