เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ “Journey to Zero Waste”
PepsiCo ผู้นำระดับโลกในด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เจ้าของแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมายาวนาน อาทิ เครื่องดื่ม “เป๊ปซี่” และมันฝรั่งทอดกรอบ “เลย์” เปิดตัวโครงการ Journey to Zero Waste ในประเทศไทย เพื่อสานพลังบวก จับมือวัดจากแดงและชุมชนเทศบาลทรงคนอง เก็บกลับขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกอ่อนหลายชั้น หรือ MLP (Multilayer plastic) นำไป Upcycling ลดปัญหาขยะพลาสติก สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มมูลค่าขยะสร้างเก้าอี้-โต๊ะนักเรียน ส่งมอบสถานศึกษาที่ขาดแคลน
นายสุดิปโต โมซุมดา กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและเวียดนาม บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (“เป๊ปซี่โค ประเทศไทย”) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายมันฝรั่งทอดกรอบ “เลย์” เปิดเผยว่า เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ตระหนักดีถึงปัญหาขยะพลาสติก MLP ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้ ที่มีปริมาณเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน จากบรรจุภัณฑ์ของสินค้าต่างๆ เช่น ซองขนม ฉลากขวดน้ำ ถุงเติม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซองกาแฟ เปลือกลูกอม เป็นต้น เป๊ปซี่โค ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ ที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก MLP จึงเร่งขับเคลื่อนพร้อมวางเป้าหมายการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ MLP ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำบรรจุภัณฑ์ MLP เข้าสู่กระบวนการเพิ่มมูลค่า และสร้างประโยชน์ โดยการ Upcycling แปรรูปเป็นโต๊ะและเก้าอี้นักเรียน เพื่ือส่งมอบสถานศึกษาในชุมชนต่างๆ ที่มีความต้องการต่อไป
ภายใต้วิสัยทัศน์ pep+ (PepsiCo Positive) ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ครบวงจรอย่างยั่งยืน โดยมีหัวใจสำคัญในการกำหนดวิธีการที่บริษัทจะสร้างความเติบโตและคุณค่าจากการดำเนินงานภายใต้ข้อจำกัดทรัพยากรโลก และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่โลกและประชากร เป๊ปซี่โค ประเทศไทย จึงร่วมมือกับวัดจากแดง และเทศบาลทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เปิดตัวโครงการ “Journey to Zero Waste” เพื่อเรียนรู้การบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่การเก็บกลับ การคัดแยกขยะ และนำมา Upcycling ซึ่งทางวัดจากแดงได้เป็นแบบอย่างในการนำขยะต่างๆ มาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า อาทิ ขวดน้ำดื่ม PET เป็น จีวรพระ ถุงพลาสติก MLP และกล่องเครื่องดื่ม UHT เป็นแผ่นยิปซั่ม และอื่นๆ พร้อมนำกลับมาใช้เป็นวัสดุใหม่ที่สร้างประโยชน์ และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
“ชุนชนวัดจากแดง และเทศบาลทรงคนอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการเริ่ม โครงการ “Journey to Zero Waste” ซึ่งเป๊ปซี่โค ประเทศไทย จะทำงานร่วมกับชุมชน ในการเก็บกลับขยะพลาสติก MLP แล้วนำมา Upcycling แปลงขยะให้มีมูลค่า แล้วต่อกลับมามาใช้ ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน” นายสุดิปโตกล่าว
ล่าสุด เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ได้นำพนักงานกว่า 200 คน เดินทางไปศึกษาดูสถานการณ์การบริหารจัดการขยะ พร้อมทั้งเรียนรู้ร่วมกับผู้แทนชุมชนทรงคนองกับวัดจากแดง ซึ่งเป็นโมเดลการทำงานที่ประสบความสำเร็จ สามารถสอนวิธีการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน และยังนำขยะพลาสติกมา Upcycling ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างน่าสนใจ
“ขยะ” ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาใหญ่ ที่กลายเป็นขยะกองโตที่จะอยู่บนโลกไปอีกนานแสนนาน ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรเร่งร่วมมือ เพื่อหยุดปัญหาดังกล่าว ด้วยการร่วมมือคัดแยกบรรจุภัณฑ์ MLP หลังใช้ และสามารถส่งกลับมาที่บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด หรือวัดจากแดง หรือนำไปส่งที่ถังขยะสำหรับขยะ MLP ซึ่งจะตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการ Upcycling แปรรูปเป็นโต๊ะและเก้าอี้นักเรียน เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสถานศึกษาที่ต้องการต่อไป
นายสุดิปโต กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการความร่วมมือกับวัดจากแดงและเทศบาลทรงคนอง ถือเป็นโครงการนำร่อง โดยเป๊ปซี่โค ประเทศไทย มีเป้าหมายขยายโครงการฯ และขยายความร่วมมือไปกับพันธมิตรและชุมชนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสานต่อภารกิจภายใต้กลยุทธ์ pep+ (PepsiCo Positive)
เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ให้ความสำคัญกับประเด็นของการบริหารจัดการขยะจากบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคเป็นอย่างมาก โดยเราได้มีโครงการ Journey to Zero Waste เพื่อดำเนินการในประเด็นการจัดการขยะประเภทบรรจุภัณฑ์อ่อนหลายชั้น (MLP) อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ได้รับการประกาศเกียรติคุณในฐานะองค์กรผู้นำแห่งความรับผิดชอบด้านความยั่งยืน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านความร่วมมือในโครงการ “Pack Back เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยังยืน” ซึ่งเป็นความร่วมมือภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งผู้ผลิต เอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา องค์กรอิสระกว่า 70 องค์กร โดยการนำหลัก EPR (Extended Producer Responsibility) หรือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตสู่การขยายเครือข่ายร่วมรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการขยะจากบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค กลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ เพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างระบบระบบนิเวศ Ecosystems ที่เหมาะสม ตั้งแต่การเก็บรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว การขนส่งและระบบโลจิสติกส์ การรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วสู่การเป็นวัตถุดิบที่สร้างมูลค่า และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่อย่างต่อเนื่อง