“สคร.” จับมือ “depa” ลงนามบันทึกข้อตกลง พัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านรัฐวิสาหกิจ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลด้านรัฐวิสาหกิจ หลักทรัพย์ของรัฐ และการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บันทึกข้อตกลงฯ) รูปแบบออนไลน์ บันทึกข้อตกลงฯ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อร่วมกันสร้าง สคร. ให้เป็นองค์กรภาครัฐที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างเป็นระบบและยั่งยืน และมีการร่วมมือกันใน 3 ด้านคือ การบริหารจัดการข้อมูล (Data Management) การจัดทำแบบจำลองในการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Model) รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านข้อมูล (Data Skills) ในภารกิจด้านรัฐวิสาหกิจ หลักทรัพย์ของรัฐ และการส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และด้านการพัฒนาองค์กรของ สคร.
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า“การบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐระหว่าง สคร. และ depa-GBDi นี้ เป็นกลยุทธ์ที่ผลักดันวิสัยทัศน์ของ สคร. นั่นคือ “พัฒนารัฐวิสาหกิจ หลักทรัพย์ของรัฐ และการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนด้วยมาตรฐานสากล เพื่อสังคมก้าวหน้าและเศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” และค่านิยมคือ Vibes (Visionary Leadership, Innovative, Best People, Emphasis on Success) ซึ่ง สคร. ตั้งเป้าจะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Organization) โดยการนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจในทุกภารกิจ
ในปีงบประมาณ 2565 สคร. และ depa-GBDi ร่วมกันทดสอบนำร่องการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) กับข้อมูลหลักทรัพย์ของรัฐ พร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะด้านข้อมูล (Data Skills) แล้วซึ่งเห็นผลลัพธ์ในด้านการบูรณาการข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์หลักทรัพย์ของรัฐ การนำข้อมูลมาแสดงผลเพื่อให้ผู้บริหารตัดสินใจ และการพัฒนาทักษะข้อมูลให้กับบุคลากรได้อย่างชัดเจน
ในปีงบประมาณ 2566 สคร. และ depa-GBDi มีการวางแผนเตรียมการด้านการบูรณาการและวิเคราะห์ข้อมูลด้านรัฐวิสาหกิจ และตั้งเป้าหมายการพัฒนาทักษะด้านการนำข้อมูลมาแสดงผลของบุคลากรให้ได้มากกว่า 50-60% ของบุคลากรทั้งหมด และจะต่อยอดให้ครบ 100% ในปีถัดๆ ไป โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านรัฐวิสาหกิจ หลักทรัพย์ของรัฐ และการส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ อย่างยั่งยืนโดยแท้จริง ขอขอบคุณ depa ที่มาร่วมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐนี้”
ด้าน นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดเผยว่า ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลด้านรัฐวิสาหกิจ หลักทรัพย์ของรัฐ และการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ระหว่าง depa โดย GBDi และ สคร. จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการข้อมูลด้านรัฐวิสาหกิจ หลักทรัพย์ของรัฐ และการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนอย่างเป็นระบบ โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันจัดทำแบบจำลองการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Model) ด้านต่าง ๆ และพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านข้อมูล ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐที่ต้องการผลักดันให้เกิดฐานข้อมูลภาครัฐที่สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ตลอดจนวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และทักษะดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง
“depa เล็งเห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์จาก ‘ข้อมูล’ ที่ผ่านการส่งเสริมและยกระดับประสิทธิภาพโดยการบูรณาการการทำงานของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล และการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่ออำนวยความสะดวก แก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืนครอบคลุมทุกมิติของประเทศในยุคดิจิทัล ซึ่ง depa เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นต้นแบบการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่จะส่งเสริมภารกิจของกันและกันได้เป็นอย่างดี” ผู้อำนวยการใหญ่ depa กล่าว
นอกจากนี้ depa อยู่ระหว่างดำเนินการยกระดับ GBDi สู่การเป็น สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (NBDi) ที่จะเป็นหน่วยงานหลักด้าน Big Data ของประเทศ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ของไทยซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาและประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐสองหน่วยงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมภารกิจของ สคร. ด้านรัฐวิสาหกิจ หลักทรัพย์ของรัฐ การส่งเสริมให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และภารกิจของ depa ด้านการส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ แล้วยังเป็นต้นแบบของการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานอื่นๆ เพื่อส่งเสริมภารกิจของกันและกันได้เป็นอย่างดี