กรมโรงงานฯ จับมือ กฟน. อบรมความปลอดภัยไฟฟ้าในโรงงาน ให้ผู้ประกอบการกว่า 150 ราย
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จับมือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินโครงการให้ความรู้ด้านความปลอดภัยภาคอุตสาหกรรม ในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า มาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้าในสถานที่ทำงาน ให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน โดยจัดการอบรมให้กับบุคลากรที่ทำงานในโรงงานกว่า 150 ราย จากสถานประกอบการกว่า 90 แห่ง เพื่อให้บุคลากรในโรงงานอุตสาหกรรมเกิดความปลอดภัยจากการปฏิบัติงาน ลดอุบัติเหตุจากเพลิงไหม้ ช่วยลดความสูญเสียที่สามารถป้องกันได้ และลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การจัดฝึกอบรมในครั้งนี้เป็นความร่วมมือปีที่ 10 ระหว่าง กรอ. และ กฟน. ที่จะส่งเสริมให้โรงงานตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมมือกับ กฟน. ในการดำเนินโครงการให้ความรู้ด้านความปลอดภัยตามชุมชน (ภาคอุตสาหกรรม) ในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า มาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้าในสถานที่ทำงาน รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน มาตั้งแต่ปี 2556 โดยปีนี้ กรอ. และ กฟน. จัดการอบรมให้ผู้ประกอบการ 150 คน จากสถานประกอบการกว่า 90 แห่ง เพื่อเพิ่มความรู้ด้านการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า รวมถึงการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานกรณีเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรในโรงงานอุตสาหกรรม หวังลดอุบัติภัยจากเพลิงไหม้ ช่วยลดความสูญเสียที่สามารถป้องกันได้ และลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน
นายวันชัย กล่าวต่อว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2564 (ม.ค. – ธ.ค. 2564) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น จำนวน 112 ครั้ง โดยเป็นเหตุอัคคีภัย 92 ครั้ง และสาเหตุอื่นๆ 20 ครั้ง ซึ่งการเกิดเหตุเพลิงไหม้ส่วนใหญ่มาจากการขาดการบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักร และ/หรือขาดการจัดทำแผนการตรวจสอบบำรุงดูแลรักษาเครื่องจักรรวมทั้งขาดความเชี่ยวชาญหรือความรู้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
“กรอ. และ กฟน. ได้มีความร่วมมือในการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดอบรมให้ผู้ประกอบการแล้วกว่า 1,600 คน และผมหวังว่าความร่วมมือของ 2 หน่วยงาน จะผลักดันให้เกิดการเรียนรู้มาตรฐาน หลักวิชาการ และประสบการณ์ ด้านความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า และจะเป็นบทสรุปให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบว่า มีมาตรการใดที่จะป้องกัน ควบคุม ลด หรือบรรเทา อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมต่อไป” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย