กฎหมายต้องรู้ก่อนซื้อบ้านเสริมเกราะความมั่นใจ ไม่ต้องกลัวโดนเท
การซื้อที่อยู่อาศัยมีปัจจัยหลายประการที่ผู้บริโภคจะพิจารณาไม่ว่าจะเป็นทำเล พื้นที่ใช้สอย การออกแบบรวมไปถึงความคุ้มค่าด้านราคา และยังมีปัจจัยสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้ามไป คือข้อกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแลการก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมโดยตรง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาและตรวจสอบความถูกต้องให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย ขอแนะนำข้อกฎหมายหลัก ๆ เกี่ยวกับบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่ผู้บริโภคควรรู้ เพื่อวางแผนและสร้างความมั่นใจก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน รวมทั้งช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดข้อพิพาทในภายหลังโดยไม่คาดคิด
“กฎหมายจัดสรร และกฎหมายควบคุมอาคาร” เรื่องที่คนซื้อบ้านห้ามมองข้าม
ในการซื้อบ้านสักหลัง ผู้ซื้อจำเป็นต้องมีข้อมูลและความเข้าใจข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาภายหลัง โดยกฎหมายหลัก ๆ ที่น่าสนใจจะมี “พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน หรือกฎหมายจัดสรร” เพื่อควบคุมและจำกัดสิทธิของการจัดสรรที่ดินประเภทต่าง ๆ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสาธารณูปโภคตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 (ปว.286) มีใจความสำคัญว่า “สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินจัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไป ที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้”
ภายหลังมีการแก้ไขปรับปรุงตราพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ออกใช้บังคับแทน โดยมีใจความสำคัญเดิมที่ยังคงกำหนดให้สาธารณูปโภคที่จัดให้มีขึ้นในโครงการจัดสรรต้องคงสภาพเดิมตลอดไป ซึ่งประเด็นนี้โครงการอสังหาฯ ส่วนใหญ่จะไม่ได้แจ้งผู้ซื้อถึงความเป็นมาของที่ดินว่าเคยเป็นที่ดินจัดสรรเก่าตามกฎหมายที่ไม่สามารถนำมาใช้เชิงพาณิชย์หรือไม่ ดังนั้นก่อนที่จะซื้อบ้านจัดสรร ผู้ซื้อจึงควรตรวจสอบหาข้อมูลกับสำนักงานที่ดินในท้องที่นั้น ๆ ก่อน ว่าที่ดินในโครงการดังกล่าวทำถูกกฎหมายจัดสรรหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
นอกจากนี้ยังมี “พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร” ที่ผู้ซื้อแม้จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านนั้นโดยตรง แต่การต่อเติมเพิ่มนั้นจะต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายควบคุมการก่อสร้างและดัดแปลงอาคาร โดยหลัก ๆ แล้วเจ้าของบ้านไม่สามารถต่อเติมบ้านจนเต็มพื้นที่ได้ เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดระยะร่นและที่เว้นว่างสำหรับอาคารและเขตที่ดินไว้ ซึ่งเจ้าของบ้านจะต้องทำเรื่องขออนุญาตกับเจ้าพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน พร้อมแนบแบบแปลนที่ได้รับการรับรองจากสถาปนิกและวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างมาประกอบ นอกจากนี้การต่อเติมหรือขยายรั้วโครงการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของโครงการ ยังถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากรั้วโครงการสร้างขึ้นมากำหนดขอบเขตแยกระหว่างพื้นที่ส่วนตัวของบ้านและพื้นที่ของโครงการ จึงถือเป็นทรัพย์สินส่วนกลางและกรรมสิทธิ์ของเจ้าของโครงการโดยตรงเช่นกัน
อยากเป็นเจ้าของคอนโดฯ ควรศึกษากฎหมายอะไรบ้าง
คอนโดมิเนียมเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความนิยมทั้งในกลุ่มผู้บริโภคที่เพิ่งมีบ้านหลังแรกหรือนักลงทุน มีโครงการใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ที่เปิดให้จองห้องก่อนที่จะมีการก่อสร้างเกิดขึ้นจริง ถือเป็นช่วงโอกาสทองที่ผู้บริโภคจะได้จองห้องที่มีราคาถูก โปรโมชั่นที่คุ้มค่า และยังเลือกตำแหน่งห้องได้มากกว่า อย่างไรก็ตามการจองจากกระดาษมีความเสี่ยงกว่าการซื้อโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว เพราะอาจเกิดเหตุไม่คาดคิดที่ทำให้การก่อสร้างถูกระงับหรือต้องเลื่อนเวลาส่งมอบออกไป ก่อนตัดสินใจจองหรือซื้อคอนโดฯ ผู้บริโภคจึงควรศึกษาว่าโครงการนั้น ๆ ปฏิบัติตามข้อบังคับของพระราชบัญญัติอาคารชุด และพระราชบัญญัติควบคุมอาคารครบถ้วนหรือไม่ โดยมีข้อควรพิจารณาหลัก ๆ ดังนี้
- ใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดฯ ส่วนใหญ่โครงการฯ จะต้องได้รับการอนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก่อนจึงจะยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดฯ ได้ โดยผู้สนใจสามารถสอบถามได้จากฝ่ายขายโครงการฯ นั้น
- การจดทะเบียนเป็นอาคารชุด มีผลในด้านกรรมสิทธิ์ในห้องชุด การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม การตั้งนิติบุคคลอาคารชุด ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คอนโดฯ มีความแตกต่างจากอะพาร์ตเมนต์ และทำให้ผู้ซื้อสามารถถือครองกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมในโครงการฯ นั้น ๆ ได้
- กฎหมายควบคุมอาคารด้านความปลอดภัย นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยในระยะยาว ยังแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการที่มีต่อชุมชนข้างเคียง โดยโครงการจะต้องมีรายละเอียดแผนการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารด้านความปลอดภัย อาทิ ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบระบายอากาศ ระยะร่นของอาคาร ระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ เป็นต้น
- การกำหนดแนวร่นอาคารวัดจากกึ่งกลางถนนสาธารณะ โครงการที่มีอาคารติดกับถนนสาธารณะต้องมีระยะร่นของอาคารจากกึ่งกลางของถนนสาธารณะนั้นตามความกว้างที่กำหนด โดยแตกต่างกันไปตามความกว้างของถนนที่โครงการตั้งอยู่
นอกจากนี้ เมื่อแบ่งตามประเภทคอนโดฯ แบบไฮไรส์ (High Rise) และคอนโดฯ แบบโลว์ไรส์ (Low Rise) ยังมีข้อกฎหมายควบคุมที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
คอนโดฯ โลว์ไรส์ (Low Rise)
- การกำหนดที่ว่างภายนอกอาคาร โครงการที่สูงไม่เกิน 8 ชั้น ต้องมีที่ว่างภายนอกอาคารไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร
- ระยะร่น กำหนดไว้ว่าโครงการฯ ที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น ด้านที่ชิดกับที่ดินอื่นจะต้องทำช่องเปิด ประตู หน้าต่าง ช่องระบายอากาศ หรือที่ริมระเบียงชั้น 2 ลงมา หรือคอนโดฯ ที่สูงไม่เกิน 9 เมตร ต้องมีระยะห่างจากเขตที่ดินอื่นไม่น้อยกว่า 2 เมตร และสำหรับชั้นที่ 3 ขึ้นไปหรือสูงเกินกว่า 9 เมตรแต่ไม่ถึง 23 เมตร ผนังหรือระเบียงต้องอยู่ห่างเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 3 เมตร
คอนโดฯ ไฮไรส์ (High Rise)
- การกำหนดที่ว่างภายนอกอาคาร กฎหมายกำหนดไว้ว่าคอนโดฯ ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่หรือสูงเกิน 23 เมตรขึ้นไป หรือที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคาร