เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทยโชว์ศักยภาพกลยุทธ์ ‘One Platform’
เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทยโชว์ศักยภาพกลยุทธ์ ‘One Platform’ ยืดหยุ่น ทนทาน พร้อมฝ่าทุกวิกฤตสร้างผลงาน 6 เดือน ปี 64 รายได้รวมกว่า 8 พันล้าน
- กลยุทธ์ ‘One Platform’ ที่ครอบคลุมอสังหาฯครบวงจร ทำให้เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย สามารถรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อได้เป็นอย่างดี สะท้อนได้จากผลประกอบการในรอบ 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2564) บริษัทฯมีรายได้รวมทั้งสิ้น 8,127 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 969 ล้านบาท
- FPT สามารถประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้มูลค่า 5,000 ล้านบาท โดยมียอดจองสูงมากกว่า 4.5 เท่าของยอดเสนอขาย สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อศักยภาพและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัทฯ ทั้งนี้ FPT จะนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ชำระคืนหนี้ และเงินทุนสำหรับพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
- กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย สร้างรายได้จากการขายได้ตามเป้า มียอดพรีเซลใน 6 เดือนแรกของปี 2564 ที่ 16,270 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าเปิดโครงการบ้านฟังก์ชั่นครบ รองรับดีมานด์ลูกค้าที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามแบบ Next Normal อีก 6 โครงการ
- กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม บรรลุการปิดดีลพัฒนาแวร์เฮ้าส์อย่างต่อเนื่องรับอานิสงส์ e-commerce พร้อมทั้งเดินหน้าเปิดตัวโครงการโลจิสติกส์ พาร์คแห่งใหม่อีก 2 แห่ง ทั้งในบางพลีและ EEC
กรุงเทพฯ 4 สิงหาคม 2564
บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “FPT” ผู้นำบริการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรรายแรกของประเทศไทย เผยผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2564) ที่จำนวน 8,127 ล้านบาท โดย FPT ได้ดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ ‘One Platform’ ที่ผนึกกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้บริษัทฯมีความยืดหยุ่น ทนทาน และสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่มีความท้าทายในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country Chief Executive Officer) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วยแพลตฟอร์มอสังหาฯครบวงจรของ FPT ที่ครอบคลุมธุรกิจที่หลากหลาย จึงเพิ่มความสามารถในการกระจายความเสี่ยงให้แก่บริษัทฯ พร้อมทั้งช่วยเสริมความยืดหยุ่นและทนทานให้แก่แพลตฟอร์มฯ ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายและความผันผวนทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลายาวนาน แม้ในช่วงครึ่งปีแรก ธุรกิจรีเทลจะได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด แต่ในภาพรวม บริษัทฯ ยังคงสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรกในระดับที่น่าพอใจ
FPT เชื่อมั่นว่า ด้วยกลยุทธ์ One Platform ประกอบกับการบริหารงานเชิงรุกในทุกมิติ และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้บริษัทฯ มีความมั่นคง พร้อมยืนหยัด และก้าวผ่านวิกฤตระดับโลกครั้งนี้ไปได้”
สำหรับภาพรวมของรอบปฎิทินไตรมาสที่สอง ปี 2564 บริษัทฯ ได้ออกหุ้นกู้ในมูลค่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันอย่างล้นหลามด้วยยอดจองหุ้นกู้กว่า 4.5 เท่าของยอดเสนอขาย สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของแพลตฟอร์มอสังหาฯครบวงจร และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ FPT โดยบริษัทฯ จะนำเงินระดมทุนที่ได้รับมาเสริมความแข็งแกร่งด้านการลงทุนและเพิ่มสภาพคล่องในปี 2564
ที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทฯ สามารถสร้างรายได้รวมในรอบ 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2564) ในจำนวน 3,845 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิจำนวน 459 ล้านบาท และคิดเป็นรายได้รวมรอบ 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2564) 8,127 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 969 ล้านบาท
กลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม” ที่สร้างรายได้จากการขายบ้าน ยังคงเติบโตได้ตามเป้าหมาย โดย มียอดพรีเซลรวม 6 เดือนอยู่ที่ 16,270 ล้านบาท และบันทึกรายได้จากการขายในรอบ 6 เดือนอยู่ที่จำนวน 6,110 ล้านบาท จากทั้งสิ้น 11 โครงการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างช่องทางรับรู้รายได้ในอนาคต สำหรับครึ่งปีหลังบริษัทฯมีแผนการเปิดโครงการบ้านฟังก์ชั่นครบ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคชีวิตวิถีถัดไป (Next Normal) สร้างความแตกต่าง เสริมจุดแข็งด้านทำเลศักยภาพเพิ่มเติมอีก 6 โครงการในทำเล สาทร จรัญสนิทวงศ์ วิภาดีรังสิต และพระราม 2
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้จากค่าเช่าและค่าบริการ ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล” และ กลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล” ที่สามารถสร้างกระแสรายได้ที่สม่ำเสมอให้แก่บริษัทฯ มีการบันทึกรายได้รวมจากค่าเช่าและการบริการในรอบ 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2564) ในสัดส่วนคงที่ รวมเป็นจำนวน 1,088 ล้านบาท
ในไตรมาสที่ 2 นี้ ธุรกิจอาคารสำนักงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม ได้รับผลกระทบอย่างจำกัดจากนโยบาย Work from Home แต่ยังคงสามารถสร้างรายได้แบบทรงตัว เนื่องด้วยกลุ่มผู้เช่าหลักในอาคารสำนักงานเกรด A ทั้ง 5 แห่ง ล้วนเป็นบริษัทชั้นนำระดับสากลและบริษัทแถวหน้าของประเทศไทยที่มีสถานะทางการเงินที่มั่นคง ในขณะที่ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ได้รับผลกระทบในการให้บริการจากการประกาศใช้มาตรการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ปรับเปลี่ยนเรื่อยมา
ถึงแม้ว่ากระแสรายได้จากค่าเช่าบางส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมจะได้รับผลกระทบ แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมยังคงเติบโต โดยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง เสริมด้วยดีมานด์สำหรับโรงงานและคลังสินค้าในลักษณะสัญญาเช่าระยะสั้นที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีอัตราผู้เช่าโรงงานและคลังสินค้าสูงเกินเป้าหมายอยู่ที่ 82% นอกจากนี้ ธุรกิจอสังหาฯเพื่ออุตสาหกรรมยังได้ปิดดีลสัญญาเช่ากับลูกค้ารายใหม่ อาทิ บริษัท Flash Fulfillment ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรเพื่อธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และได้เปิดพื้นที่การพัฒนาโลจิสติกส์ปาร์คใหม่อีก 2 แห่ง ในทำเลบางพลีที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และอีกพื้นที่ที่ร่วมกับมิตซุย ฟุโดซัง ผู้นำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภทที่ใหญ่ที่สุดจากประเทศญี่ปุ่น เดินหน้าเปิดตัวในพื้นที่ EEC พัฒนาเป็น Smart & Sustainable Logistics Park แห่งแรกในประเทศไทย
ตารางเปรียบเทียบผลการดำเนินงานด้านการเงิน รอบระยะเวลา 6 เดือน (มกราคม – มิถุนายน)
ผลงานดำเนินงานด้านการเงินรอบปฏิทิน ไตรมาส2/2564 (เมษายน – มิถุนายน 2564)